รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ถอนตัว งดรับ 30 บาท รักษาทุกโรค เผยไม่ไหวขาดทุนกว่า 100 ล้าน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 กุมภาพันธ์ 2549 15:26 น.
รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ถอดตัวงดรับรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค ตั้งแต่ ต.ค.นี้ สุรพล แถลงรับภาระขาดทุนกว่า 100 ล้านไม่ไหว บุคลากรไม่เพียงพอ และไม่สามารถดำเนินให้เป็นโรงพยาบาลสถานฝึกหัดแพทย์ได้ เนื่องจากผู้ป่วยล้น ขอเปลี่ยนรับเฉพาะผู้ป่วยหนัก หรือที่ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่นเท่านั้น
วันนี้ (23 ก.พ.) ที่ห้องประชุมวรรณไวทยากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงถึงการงดรับผู้ป่วยตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคของ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ว่า ตนได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอเปลี่ยนการขึ้นทะเบียนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสถานบริการระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) และขอยกเลิกการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการประจำตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เป็นต้นไป
เนื่องจาก รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ได้เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มาตั้งแต่ปี 2544 ขณะนี้มีประชาชนที่ขอขึ้นทะเบียนรักษากับโรงพยาบาลจำนวน 75,606 คน แต่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เป็นโรงพยาบาลขนาด 423 เตียง มีพันธกิจในการให้บริการสาธารณสุขระดับตติยภูมิ และเป็นศูนย์รวมของการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนของนักศึกษาคณะต่างๆ ในศูนย์สุขศาสตร์ ของ มธ.และฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางของแพทยสภา ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลได้รับผลกระทบหลายประการ
รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ประสบปัญหาขาดทุนในปี 2548 พบว่า มีรายรับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 105 ล้านบาท ซึ่งไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับชดเชยภาวะขาดทุนดังกล่าว นอกจากนี้ โรงพยาบาลมีบุคลากรและจำนวนเตียงไม่เพียงพอกับการให้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และผลกระทบจากการให้บริการในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่งผลให้การเรียนการสอนของนักศึกษาและแพทย์เฉพาะทางไม่มีเวลาในการทำวิจัยตามภารกิจหลัก อธิการบดิ มธ.กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า มธ.ขอเปลี่ยนแปลงจากการรับผู้ป่วยแบบปฐมภูมิ มาเป็นรับผู้ป่วยตติยภูมิแทน คือ เป็นการรับเฉพาะกรณีคนไข้ที่ป่วยหนัก ป่วยเฉพาะทาง หรือกรณีการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นมารักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เท่านั้น เพราะ มธ.แบกภาระการขาดทุนปีละ 100 กว่าล้านไม่ไหว อีกทั้งยังเป็นโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นโรงเรียนแพทย์ ทำให้มีคนไข้มากกว่าปกติ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะควบคุมการตรวจรักษาของแพทย์ที่มีจุดมุ่งหมายในเรื่องการสอนนักศึกษาแพทย์ได้ เช่น เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาจะต้องมีการเจาะเลือดไปตรวจในห้องแล็บอย่างละเอียด ซึ่งโรงพยาบาลอื่นไม่ได้ทำเช่นนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าโรงพยาบาลทั่วไปอยู่แล้ว ทั้งนี้ เราคิดว่าเรามีต้นทุนสูงกว่า และไม่สามารถอยู่ในเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนดไว้ได้
อธิการบดี มธ. กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยทั่วไปที่ลงทะเบียนกับ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จะได้รับการดูแลถึงสิ้นปีงบประมาณ 2549 ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดย มธ.จะแจ้งให้ สปสช.ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมแหล่งรับผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งคิดว่าสามารถจัดการได้ เพราะมีโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงกับ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ อีกหลายแห่งที่สามารถรองรับผู้ป่วยเหล่านี้ได้ หลังจากเข้าสู่ปีงบประมาณ 2550 ในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ยังคงรับรักษาผู้ป่วย โดยถือว่าผู้ป่วยที่มีบัตรทอง หากเข้ารับการรักษาก็จะเป็นคนไข้ปกติที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศ แต่ถ้าจะใช้ 30 บาทรักษาทุกโรคต้องไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่น เช่น รพ.คลองหลวง เป็นต้น ถ้าป่วยหนักจึงส่งตัวมารักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ตามปกติ ดังนั้น ในเชิงผลกระทบต่อผู้ป่วยจะไม่เกิดขึ้น แต่มีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการระหว่าง มธ. กับ สปสช.เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ได้หารือกับ สปสช.ถึงภาวะขาดทุนมาตลอด โดย มธ.เคยเสนอว่าหากตัวเลขค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลสูงมากจะรับภาระไม่ไหว ล่าสุด เมื่อมีการสำรวจตัวเลขการขาดทุนของปี 2548 เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริการของโรงพยาบาล จึงมีมติว่าควรถอนตัวจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค