คนพิการสู้ชีวิต แบ่งหน้าที่เลี้ยงแพะ รวมเป็นหนึ่งเดียว

พิการไม่ย่อท้อ รวมตัวสู้เลี้ยงแพะ"


คนพิการระยองสู้ชีวิต รวมกลุ่มกว่า 20 คนเลี้ยงแพะสร้างรายได้ แบ่งหน้าที่ตามสภาพร่างกาย ขาขาดให้เฝ้าจุดกันแพะออกนอกทาง ตาบอดคอยผสมอาหาร เน้นหลักหลายคนรวมกันเป็นหนึ่ง อาศัยหมาไทย 2 ตัวช่วยต้อนแพะและระวังขโมย จนประสบความสำเร็จ

ภาครัฐยื่นมือเตรียมพื้นที่กว่า 34 ไร่ ให้ใช้เลี้ยงแพะและปลูกพืชผักสวนครัวตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

คนพิการไม่ย่อท้อชีวิต รวมกลุ่มกันหาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงแพะ เป็นที่สนใจแก่ผู้ใช้เส้นทาง ต.พังราด อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งจะเห็นคนพิการขาขาดสองข้างใช้ไม้เท้าค้ำยันคอยต้อนฝูงแพะ โดยมีคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์อื่นๆ ยืนตามรายทางเพื่อกันฝูงแพะออกนอกเส้นทาง

นายสาคร เอมสมบูรณ์ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71/2 หมู่ 3 ต.พังราด อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งขาขาด 1 ข้าง เล่าว่า เดิมได้รวมตัวกันตั้งชมรมคนพิการ จ.ระยอง มีสมาชิกครั้งแรก 7 คน มีทั้งพิการมาก-น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีทางเลือกมากนักในการหาเลี้ยงชีพ แต่ก็ไม่ยอมแพ้และไม่ยอมเป็นภาระสังคม พยายามสรรหาอาชีพที่เหมาะสมกับร่างกาย เช่น การทำดอกไม้ประดิษฐ์ และทำดอกไม้จันทน์ แต่หลังจากนั้นก็รู้ว่าไปไม่รอด เพราะประดิษฐ์ของสิ้นเปลือง ทำไปเท่าไรก็กลายเป็นขยะ

"ตัวอย่างความวิริยะอุตสาหะ"


ดังนั้น จึงให้สมาชิกในกลุ่มกลับไปคิดว่าจะทำอะไรดี เพื่อให้อยู่ได้โดยไม่เป็นภาระต่อครอบครัว ชุมชน หรือสังคม ช่วยกันคิดนำมาเสนอและหาข้อยุติ ช่วงนั้นได้รับแจกโคจากหน่วยงานราชการมา 6 ตัว จึงทดลองเลี้ยง แต่พบว่าการเลี้ยงโคไม่เหมาะสำหรับคนพิการ เพราะสัตว์ใหญ่วิ่งเร็ว แข็งแรง คนพิการไล่ตามไม่ทัน บางครั้งถูกขวิดจนล้มได้รับบาดเจ็บ จากประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้มาทบทวนว่า ควรเลี้ยงสัตว์ที่เล็กกว่านี้ แต่ถ้าเป็นแกะเลี้ยงขายขน ต้องดูแลอย่างดี คนพิการคงทำได้ไม่เต็มที่ การเลี้ยงแพะน่าจะสบายกว่า เพราะตัวเล็ก เคี้ยวเอื้อง 4 กระเพาะ กินง่าย ขายคล่อง คนนิยม และเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แพะท้องได้ปีละ 2 ครั้ง ตั้งท้องนาน 6 เดือน เลี้ยง 8 เดือน ขุนอีก 2 เดือน ก็ขายได้ ถ้าเป็นแม่พันธุ์ราคาตัวละ 3,500-3,700 บาท ส่วนราคาเนื้อแพะประกันราคาที่ กก.ละ 50 บาท

นายสาคร เล่าว่า เมื่อปี 2547 ได้ทำเรื่องของบซีอีโอจากนายอุทัย สุวรรณ รองผู้ว่าฯระยอง สมัยนั้น ซึ่งเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 2.8 ล้านบาท ให้ปศุสัตว์และศูนย์วิจัยถ่ายทอดเทคโนโลยีดูแลจัดซื้อแพะ 150 ตัว แจกคนพิการครอบครัวละ 11 ตัว เป็นตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 10 ตัว แต่พอได้มาจริงๆ ก็เกิดปัญหา เพราะไม่มีประสบการณ์ เมื่อต่างคนต่างเลี้ยงก็เกิดปัญหา เวลาสัตว์ป่วยไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ต้องทำงานหลายอย่าง ช่วงนั้นมีเรื่องไข้หวัดนกด้วย เจ้าหน้าที่จึงไม่มีเวลามากนัก

"เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมจึงต้องเรียนรู้ และศึกษาเรื่องโรคในสัตว์ แพะบ้านไหนมีปัญหาก็จะไปช่วยดูแล ในที่สุดก็มาคิดว่า ถ้ากระจายกันเลี้ยงอย่างนี้คงไปไม่รอด จึงให้ทุกบ้านนำแพะมารวมกันเลี้ยงที่เดียวที่ ต.พังราด ทำในรูปแบบของคนพิการและครอบครัว แจกจ่ายหน้าที่กันตามศักยภาพร่างกาย เช่น ค้ำถ่อ คือคนมีขา 2 ข้างแต่ใช้ไม่ได้ แต่สามารถเคลื่อนไหวเร็ว ให้ทำหน้าที่ต้อนฝูงแพะ ส่วนค้ำยัน คือคนขาขาด พวกนี้ขยับตัวช้าไม่สะดวก จึงให้ยืนประจำจุดเพื่อกันไม่ให้แพะออกนอกเส้นทาง คนตาบอดคอยผสมอาหาร โปลิโอทำความสะอาดโรงเรือน ทำงานเป็นหนึ่งเดียว รวมกันเปรียบเสมือนคนร่างกายแข็งแรง 1 คน ทุกคนจะรู้หน้าที่ของตัวเอง ถ้าวันไหนมาไม่ได้ ต้องส่งลูกหลานมาแทน พวกเราส่วนใหญ่จะอยู่กับแพะ ทั้งเวลากินและเวลานอน ทำให้จำได้หมดว่าตัวไหนชื่ออะไร" นายสาคร กล่าว

"หน่วยงานรัฐให้การช่วยเหลือสนับสนุน"


นายสาคร ยอมรับว่า คนพิการอย่างพวกตนจะทำงานให้รวดเร็วทันใจเหมือนคนปกติไม่ได้ โดยเฉพาะการวิ่งต้อนฝูงแพะหลายร้อยตัว จึงต้องหาผู้ช่วย กระทั่งไปพบลูกสุนัขข้างถนน 2 ตัว จึงเก็บเอามาเลี้ยงตั้งชื่อ ทองม้วน กับทองแดง ฝึกให้คอยต้อนฝูงแพะ ใช้เวลาฝึกไม่นานก็ทำได้ กลายเป็นผู้ช่วยชั้นดี คอยต้อนแพะที่ไปหาอาหารในทุ่งนาห่างไปประมาณ 500 เมตร ทองม้วนจะวิ่งนำฝูง ส่วนทองแดงคุมท้ายฝูง ด้านข้างจะมีสมาชิกคนพิการประจำจุด เพื่อไม่ให้แพะออกนอกเส้นทาง เพราะกลัวไปกัดกินพืชผลของชาวบ้าน และเมื่อไปถึงทุ่งหญ้า ทั้งทองม้วนและทองแดงก็จะคอยเฝ้าฝูงแพะ คุมไม่ให้แพะออกจากทุ่ง และไม่ให้ใครเข้ามาขโมยแพะอีกด้วย

ด้านนายธงชัย นิ่มหงษ์ชัย ผู้ประสานงานอำเภอแกลง ศูนย์พัฒนาสังคมจังหวัดระยองที่ 48 กล่าวว่า ภาครัฐมองเห็นการทำงานของกลุ่มคนพิการที่ไม่ย่อท้อ แทนที่จะรอเงินจากภาครัฐอย่างเดียว แต่กลับช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มที่ จึงเตรียมช่วยเหลือด้วยการจัดพื้นที่เลี้ยงแพะ ที่กิ่ง อ.นิคมพัฒนา 34 ไร่ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยหญ้าและกระถินที่แพะชอบ เนื่องจากสถานที่เดิมกำลังประสบปัญหาเรื่องน้ำเค็มเข้าถึง ทำให้หญ้าที่เป็นอาหารร่อยหรอ และเมื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็จะส่งเสริมให้ปลูกผักพืชสวนครัวควบคู่ไปด้วย เพื่อใช้ชีวิตแบบพอเพียงเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนพิการ

นายประจิม อาจเอื้อ นายก อบต.พังราด กล่าวว่า ถึงแม้ว่ากลุ่มเลี้ยงแพะจะย้ายจาก ต.พังราด ไปอยู่กิ่ง อ.นิคมพัฒนา แต่ อบต.พังราด ก็เห็นว่าที่นี่เป็นสถานที่นำร่องควรอนุรักษ์ไว้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปดูแลและสนับสนุน เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้เห็นถึงความวิริยะอุตสาหะของคนพิการ ที่ต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคไม่ย่อท้อ แม้ร่างกายจะพิการก็ตาม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์