วันนี้ (9 ต.ค.) นายอาทิตย์ ทองออน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยสมาชิกผู้เลี้ยงไก่ไข่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จำนวนกว่า 150 คน เดินทางมาชุมนุมและถือป้ายประท้วง เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องของราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จากนั้นได้มี น.ส. ปานจิตต์ พิศวง พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมและรับมอบหนังสือร้องเรียน
นายอาทิตย์ เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ราคาไข่คละหน้าฟาร์มเดือนกันยายน ที่ผ่านมาตกต่ำ ราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.20 บาท แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้ มีราคาต่ำกว่าราคาประกาศมาก และราคาไข่เบอร์ที่ซื้อขายกันในท้องตลาดปัจจุบัน เบอร์ 3 ขายได้ราคา 1.50 - 17.0 บาทต่อฟอง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ต่อฟองโดยเฉลี่ยราคา 2.60 บาท เนื่องจากอาหารไก่ไข่มีราคาสูงขึ้น ปัจจุบันหากส่งไข่ถึงฟาร์มราคากิโลกรัมละ 14.10 บาท ดังนั้นเมื่อต้นทุนการผลิตสูง แต่ขายได้ราคาต่ำ จึงทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนและขาดทุน อีกทั้งราคาอาหารสัตว์มีแต่ขึ้นมาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2554 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีราคาลดลงเลย ประกอบกับเกษตรกรต้องแบกรับภาระในเรื่องของเวชภัณฑ์ วัคซีน วิตามิน อาหารเสริม เพื่อให้ไก่คงอัตราให้ไข่อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 หากต่ำกว่าร้อยละ 80 เกษตรกรจะขาดทุน เมื่อเป็นเช่นนี้เกษตรกรต้องจำใจปลดไก่ไข่ที่อยู่ในกรง แล้วจำหน่ายให้กับพ่อค้าที่มาซื้อ แต่ก็ต้องถูกกดราคาอีก ทั้งที่แม่ไก่ยังสาวอายุได้เพียง 6 - 8 เดือน แล้วต้องรับภาระไปซื้อแม่ไก่ตัวใหม่มาอีก รวมถึงค่าไฟฟ้าที่ได้ให้ปรับมาใช้แบบฟาร์มปิด ก็ทำให้เดือดร้อนมากขึ้น ถ้าหากฟาร์มไหนมีไก่ประมาณ 10,000 ตัวค่าไฟจะต้องจ่ายเดือนละ 30,000 กว่าบาท ทำให้หลายฟาร์มขาดทุนจนต้องเลิกกิจการไปและในปัจจุบันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในจังหวัดเชียงใหม่มีไม่ต่ำกว่า 700 ครัวเรือน ซึ่งมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดวันละประมาณล้านฟอง ซึ่งเป็นเช่นนี้ต่อไปเกษตรกรจะเดือดร้อนเพราะหาเงินใช้คืนหนี้ ธกส.ไม่ได้และยังไม่มีเงินมาใช้เป็นต้นทุนในการผลิตด้วย เพราะขายไข่ไก่ไม่ได้ราคาเท่าเทียมกับราคาของอาหารสัตว์ ดังนั้นจึงอยากขอให้รัฐบาลปรับมาตรการขึ้นราคาไข่ไก่ หรือให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.60 บาทต่อฟอง ลดราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ให้มีราคาถูกลง จัดมาตรการคิดค่าไฟฟ้าเป็นหน่วยพิเศษสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายเล็ก รวมถึงเรื่องของการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายเล็ก และขอให้ภาครัฐสนับสนุนและจัดหาแหล่งเงินทุนระยะยาวสำหรับเกษตรกร พิจารณาอนุมัติชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และชดเชยการขาดทุนจากการขายไข่ไก่ ชดเชยการขาดทุนจากการปลดไก่ไข่ยืนกรง อายุต่ำกว่า 70 สัปดาห์
ด้าน น.ส.ปานจิตต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัญหาราคาไก่ไข่ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ซึ่งปัญหานี้เป็นเหมือนกันทั้งประเทศ และพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ทราบถึงปัญหานี้แล้ว ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจะเห็นว่าเกษตรกรผู้มาชุมนุมในวันนี้เป็นผลิตในเรื่องของไก่ไข่ แต่ไม่ได้ผลิตอาหารสัตว์เอง ดังนั้นจึงต้องไปซื้ออาหารสัตว์จากที่อื่นมา ทำให้ต้นทุนการผลิตมีราคาที่สูงขึ้น เพราะราคาอาหารสัตว์ ซึ่งเรื่องนี้ตนก็จะนำเสนอไปทางกระทรวงพาณิชย์ให้รับทราบถึงปัญหานี้ เพราะเกษตรกรต้องการให้ได้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.60 บาทต่อฟอง เพื่อให้เท่าเทียบกับต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ทางพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ก็เตรียมนำเสนอท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดหาแนวทางในการประสานงานกับร้านรับซื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย รวมถึงอาจจะมีการเปิดมหกรรมสินค้าที่จำหน่ายไข่ไก่ให้ประชาชนได้เข้ามาซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องของไข่ไก่ล้นตลาด ซึ่งเรื่องนี้ก็จะได้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด