เตือนจังหวัดใต้ตอนบน รับมือแกมีเปลี่ยนเส้นทาง
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ ชั้น 14 คณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือพายุแกมี ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กองทัพเรือ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้ารายงานผลการดำเนินงานเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แสดงความกังวลเรื่องการเปลี่ยนทิศทางของพายุแกมี ที่ปรับตัวลงมาทางใต้มากขึ้น และจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้าน นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการ ฯ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือการเปลี่ยนแปลงเส้นทางของพายุ ที่มีการเคลื่อนลงต่ำอย่างรวดเร็วและจะวกผ่านอ่าวไทย ทำให้มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นภาคใต้ตอนบน โดยจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอาจมีฝนตกมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน
นายรอยล กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ อาจกระทบต่อเส้นทางคมนาคมลงสู่ภาคใต้ ซึ่งมีถนนสายหลักเพียงเส้นเดียว ทางคณะทำงานจึงมอบหมายให้ตัวแทนจากกองทัพบกโดยทหารช่าง และกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวง เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมกำลังพล และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางสำรองในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และเตรียมการอพยพคนในจุดเสี่ยงต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทางพายุมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนการที่พายุ ”แกมี” วิ่งผ่านอ่าวไทย แล้วจะเพิ่มพลังกลายเป็นพายุลูกใหม่หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีใครบอกได้ ต้องรอดูสถานการณ์ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ อีกครั้ง
นายรอยล กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และกทม. ยังคงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเหมือนเดิม โดยในวันที่ 8-10 ต.ค. จะยังคงมีปริมาณฝนตกทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมในการรับมือแล้วโดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของกทม. และจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังต่าง ๆ
เมื่อถามว่า มีความกังวลว่าเมื่อพายุหรือหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านทะเล แล้วจะทำให้เกิดสตอร์มเซิร์จได้ นายรอยล กล่าวว่า เป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากความยาวของคลื่นในทะเลไม่ยาวมาก และไม่มีปริมาณน้ำเหนือลงมาปะทะ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นถึง 15 เซนติเมตร.