ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประมาณ 300 คน นำโดย นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานต่อต้านการก่อสร้างแก่งเสือเต้น ทั้งหมดพร้อมใจกันมารวมตัวที่ศาลเจ้าพ่อแดงหน้า อบต.สะเอียบ เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยชาวบ้านทั้งหมดประกาศเจตนารมณ์จะยืนหยัดต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบนยมล่าง พร้อมทั้งปักป้ายห้ามผู้ใดเข้ามาสำรวจในพื้นที่นี้อย่างเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนจะไม่รับรองความปลอดภัย
จากนั้นแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นอ่านประกาศเจตนารมณ์ของชาวสะเอียบ มีรายละเอียดว่า ที่แห่งนี้ ดินแดนชุมชนสะเอียบ บรรพบุรุษเราก่อตั้ง สร้างบ้านแปรงเมืองมากว่า 200 ปี เราลูกหลานอยู่ด้วยกันมาด้วยความผาสุกมาโดยตลอด ปี 2534 เราได้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งได้ร่วมกันปกป้อง ดูแล รักษา ป่าสักทองผืนสุดท้ายของคนไทยทั้งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนั้นเราเคยได้ร่วมมือกับอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ชื่อว่าปลอดประสาท สุรัสวดี ซึ่งเอาจริงจังกับการรักษาป่าสักทองผืนนี้อย่างมุ่งมั่น แม้มีภัยคุกคามอย่างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมาย่างกราย เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าก็ยืนหยัดต่อสู้มาอย่างเข้มแข็ง
มาบัดนี้ อดีตอธิบดีคนดังกล่าว เปลี่ยนไป โดนผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น มาทำลายป่าสักทองผืนสุดท้ายที่เคยร่วมกันรักษามา ไม่เพียงป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่เท่านั้นที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร ป่าเบญจพรรณอีกกว่า 30,000 ไร่ ก็จะถูกตัดฟัน ล้างพลาญ ผืนดินจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้าเช่นกัน และยังต้องอพยพพวกเราชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านกว่าอีก 1,000 ครอบครัว ท่วมที่ทำกินเราอีก 10,000 ไร่ รวมแล้วพื้นที่กว่า 65,000 ไร่ จะต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ อีกทั้ง สัตว์ป่า แร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเมินค่าไม่ได้ ต้องจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งยังเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าได้เสนอทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม มาหลายต่อหลายครั้ง เอกสารข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ ก็ถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย ทั้งที่คนทั้งบ้านทั้งเมืองก็รู้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้จริงอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ นักวิชาการนักสิ่งแวดล้อมก็เสนอทางเลือกอีกมากมายทำไมไม่เลือก หรือแนวทางอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำลายป่าไม้ หรืองบประมาณน้อยเกินไปจึงไม่เลือก
ประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า แม่น้ำยมยาวกว่า 735 กิโลเมตร เขื่อนแก่งเสือเต้นจะตั้งอยู่ที่ 115 กิโลเมตรทางตอนบนของลุ่มน้ำยมรับน้ำจาก 11 ลำห้วยสาขาเท่านั้น แล้วหากฝนตกใต้เขื่อนซึ่งยาว 620 กิโลเมตรที่เหลือทางตอนกลางและตอนล่างที่รับน้ำจาก 66 ลำน้ำสาขาใต้เขื่อน อย่างฝนที่ตกที่อ.เด่นชัย วังชิ้น ศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ใต้ลงไปจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 100-200 กิโลเมตร แล้วเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมล่าง จะแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างไร อีกทั้ง เขื่อนแก่งเสือเต้นสูง 72 เมตร เขื่อนยมล่างอยู่ต่ำลงมาจากเขื่อนแก่งเสือเต้นเพียง 10 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแพร่ หากเขื่อนแตกมา คงไม่ตายเฉพาะคนเมืองสอง แต่คงตายกันทั้งเมืองแพร่
จากนั้นกลุ่มผู้ประท้วงยังนำหุ่นของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ มาตั้งที่กลางลานแล้วนำพริกนำเกลือมาราดลงที่หุ่น ก่อนจะจุดไฟเผาประท้วง ในการที่จะผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมประกาศจะต่อต้านทุกวิถีทาง โดยไม่ยอมให้สร้างเด็ดขาด
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานการต่อต้านสร้างแก่งเสือเต้นกล่าวว่า เราจะไม่มีไปไหน จะอยู่ที่นี่ ใครจะรับประกันได้ เพราะรัฐบาลอยู่ได้แค่ 4 ปี เราจะไม่ยอมให้สร้างเด็ดขาด รัฐบาลไม่จริงใจไม่มีหลักประกัน
“ชาวบ้านไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ทั้งยมบน ยมล่าง นักการเมืองตอแหลไม่ให้หลักประกันอะไร มาที่นี่พูดกับชาวบ้านอีกอย่าง ไปข้างนอกพูดอีกอย่าง สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นน้ำได้แค่ 11 ลำนำสาขาของแม่น้ำยมเท่านั้น ส่วนอีก 66 ลำน้ำกั้นไม่ได้ ปัญหาซ้ำซากก็เกิดอีก” นายสมมิ่งกล่าว