อย. ไฟเขียว อภ. ขาย “ซิเดกร้า” ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในร้านขายยาแผนปัจจุบันนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ 1 ต.ค.นี้ คาดภายใน 5 ปียาเถื่อนหมดไป เผย “ไฟเซอร์” ผู้ผลิตยาต้นแบบแจ้งลด “ไวอากร้า” 30%
วันนี้ (26 ก.ย.) นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงว่า
ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยาซิลเดนาฟิล ซึ่งเป็นยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (อีดี)ในเพศชายมีปัญหามากที่สุด พบทั้งยาปลอมที่ทำเหมือนยาจริง และยาปลอมที่ไม่มีตัวยาเลย นอกจากนี้ยังมีการใส่ยาซิลเดนาฟิลลงในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟพลังช้าง มีการโฆษณาทางเคเบิลทีวี และช่องทางต่างๆ จับกุมกันไม่หวาดไม่ไหว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยาต้นแบบมีราคาแพง 1 แผง 4 เม็ด ประมาณ 2,000 บาท ทำให้ประชาชนมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาดังกล่าว
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ล่าสุดทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.)ได้ขอขึ้นทะเบียนยาดังกล่าว
และผ่านการรับขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. แล้วใช้ชื่อทางการค้าว่า "ซิเดกร้า" สามารถวางจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยต้องมีใบสั่งแพทย์ ขณะเดียวกัน อย.ได้ออกมาตรการในการควบคุมเพื่อมิให้เกิดปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล จนอาจก่อให้เกิดอันตรายไว้ 5 มาตรการ คือ 1. ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในการควบคุมการกระจายของยาอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ให้ออกไปในช่องทางที่ไม่เหมาะสม 2. ผู้ประกอบการต้องรายงานการขายยาให้ อย.ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลการกระจายยา 3. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ให้เกิดความเข้าใจ 4. ฟื้นฟูความรู้ให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยา ให้ช่วยดูแลความปลอดภัยการใช้ยา และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมทั้งไม่จ่ายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และ 5. ผู้ประกอบการจะร่วมสนับสนุนให้มีใบสั่งยาจากแพทย์มารับยาในร้านขายยาอย่างเคร่งครัด โดย อย. จะประเมินผลมาตรการควบคุมทุก ๆ 6 เดือน
“คาดว่าภายใน 5 ปีปัญหายาปลอมในกลุ่มนี้จะหมดไป ปัจจุบันต้องยอมรับว่ายาปลอมที่จำหน่ายนั้นราคายังคงสูงอยู่คือแผง 4 เม็ดราคาประมาณ 400-500 บาท” นพ.พิพัฒน์ กล่าวและว่า นอกจากยาที่ผลิตโดย อภ.แล้ว ยังมียาสามัญของยาซิลเดนาฟิล ได้แก่ ยาโทนาฟิล ผลิตโดย บริษัท ที.โอ. เคมีคอลส์ (1979) จำกัด ยาอีลอนซา ผลิตโดย บริษัท ยูนีซัน จำกัด วางจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันด้วย นอกจากนี้ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยาไวอากร้า ซึ่งเป็นยาต้นแบบ ได้ทำหนังสือแจ้งความประสงค์กับทาง อย.ในการลดราคาขายปลีกยาดังกล่าวลง 30 % ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหายาปลอม และเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน
ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. กล่าวว่า ทาง อภ.จะเริ่มจำหน่าย ยาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป โดยยามี 2 ขนาด คือ 50 มิลลิกรัม จำหน่ายเม็ดละ 25 บาท หรือ แผงละ 4 เม็ดราคาแผลละ 100 บาท และขนาด 100 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 45 บาท แผงละ 4 เม็ดราคาแผงละ 180 บาท..