ฎีกายืนประหาร “โน๊ต ณะวงศ์”
ที่ห้องพิจารณา 711 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (7 ก.ย.) เวลา 10.40 น.ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดี หมายเลขดำ อ.3568/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายกฤษดา หรือโน๊ต ณะวงศ์ อายุ 30 ปี ,นายสมชาย หรือปิค ณะวงศ์ อายุ 53 ปี ,นายอ๊อด หรือโจ ณะวงศ์ อายุ 26 ปี ,นายอาทิตย์ หรือนิด หรือนิค ณะวงศ์ อายุ 28 ปี ,นายตู่ หรือโอ ณะวงศ์ อายุ 30 ปี และนายกิตติพงษ์ หรือแฟต ณวงศ์ อายุ 23 ปี เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงาน ,ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีและใช้อาวุธ และร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 138, 140 และ 83
โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 2 ต.ค.50 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.50 เวลากลางคืน จ.ส.ต.วีระ ศรีอูด ผู้ตาย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ประจำ สน.สุทธิสาร มีอำนาจหน้าที่สืบสวน จับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา จะเข้าทำการจับกุมจำเลยที่ 1,4,5 ฐานทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายผู้อื่น แต่ขณะที่ จ.ส.ต.วีระ จะเข้าจับกุมจำเลยดังกล่าว จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันใช้กำลังเข้าต่อสู้ ขัดขวางจ.ส.ต.วีระ ไม่ให้ทำการจับกุมโดยจำเลยทั้งหก โดยร่วมกันใช้มือ และเท้า ชก ต่อย เตะ กระทืบ จ.ส.ต.วีระ ที่หน้าและศีรษะ และร่วมกันใช้ไม้หน้าสาม 1 อันและไม้ตีเบสบอล 1 เป็นอาวุธตีทำร้าย จ.ส.ต.วีระ ที่หน้าและศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญหลายครั้ง โดยมีเจตนาฆ่า จ.ส.ต.วีระ เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ให้ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยทั้งหกคนดังกล่าวเป็นเหตุให้จ.ส.ต.วีระ ได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา สมเจตนาของจำเลยทั้งหก เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม.
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.51 เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าเจ้านักงาน ตามมาตรา289(2) วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 140 วรรคแรก และ 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2-6 มีความผิดตามมาตรา 297 ประกอบมาตรา 298 , 138 วรรคสองประกอบมาตรา 140 วรรคแรกและ 93 การกระทำของจำเลยที่ 2- 6 เป็นเป็นความผิดกรรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกจำเลยที่ 2-6 คนละ 6 ปี แต่จำเลยที่ 6 มี มีอายุไม่เกิน 20 ปี จึงลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 76 คงจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 4 ปี ทั้งนี้สำหรับจำเลยที่ 2 ให้บวกโทษจำคุก 2 เดือนที่ศาลแขวงพระนครเหนือรอการลงโทษด้วย คงจำคุกจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น 6 ปี 2 เดือน และจำเลยที่ 3 ให้บวกโทษจำคุก 1 ปี ที่ศาลอาญารอการลงโทษจำเลยที่ 3 ไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.1664/2549 คงจำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ 7 ปี
ต่อมาจำเลยทั้งหกยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ.53 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยทั้งหกยื่นฎีกา แต่ก่อนที่จะส่งฎีกาไปศาล จำเลยที่ 2-6 ได้ขอถอนฎีกา จึงเหลือฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้ไม้เบสบอลตีศีรษะผู้ตายอย่างแรง ขณะที่จำเลยทั้งหกรุมทำร้ายที่ศีรษะผู้ตายจนสลบไปแล้ว และมีเลือดไหลออกปาก จมูกและหู การที่จำเลยที่ 1 ยังใช้ไม้เบสบอลตีที่ศีรษะผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอีก จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตาย และขณะนั้นไม่มีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้อง
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีมีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้นั้น เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร่วมกันกระทำต่อเจ้าพนักงานด้วยความอุกอาจ รุนแรงต่อหน้าคนจำนวนมากโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ขณะที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีมาโดยตลอดโดยไม่ได้สำนึกผิด ข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่มีเหตุสมควรที่จะลดโทษให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้ประหารชีวิต.