จากกรณีมีข่าวว่าเกษตรกรตำบลบ้านสร้าง และตำบลสามเรือน อ.บางปะอิน จ.อยุธยา ร้องเรียนว่านาข้าวเสียหายกว่า 1 พันไร่ จากการปล่อยน้ำจากเขื่อนพระราม 6 เพื่อเตรียมทดสอบการระบายน้ำในฝั่งตะวันออกในวันที่ 7 ก.ย.นั้น ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ในฐานะคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนพระราม6 เพื่อการทดสอบเลยเพราะการทดสอบจะเริ่มปล่อยน้ำในวันที่ 7 ก.ย.เวลา14.00 น.
นอกจากนี้จุดที่ชาวบ้านอ้างว่าได้รับผลกระทบนั้นอยู่ในพื้นที่คลองระพีพัฒน์แยกตก ซึ่งไม่อยู่แผนผังการทดสอบการระบายน้ำที่คณะกรรมการรวางใว้คือระพีพัฒน์ด้านใต้และจะปล่อยลงมาในคลอง2 แล้วหลังจากนั้นค่อยระบายลงมาคลองหกวาสายล่าง เพราะฉะนั้นจึงเป็นคนละเส้นกับที่จะทดสอบน้ำ ส่วนปัญหาที่น้ำท่วมเสียหายนั้นอาจจะมาจากน้ำท่วมเอ่อล้นตลิ่งเกิดจากภาวะฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาในตอนบนของพื้นที่ พร้อมยืนยันว่าแม้จะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักลงมา 1ล้านลบม./วัน ก็ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อ2ตำบลที่ร้องเรียนเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ความพร้อมในการเตรียมทดสอบฝั่งตะวันออก ถ้าการทดลองผ่านจุดคลองหกวา มาจนถึงคลองลาดพร้า คลองแสนแสบลงระบายลงอุโมงก์ยักษ์ กทม.ได้จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าหากมีปัญหาน้ำท่วมและมีปริมาณน้ำจำนวนมาก จะสามารถระบายน้ำลงเส้นทางระบายนี้ภายในได้ 45 วันและจะลดความรุนแรงของผลกระทบน้ำท่วมกทม.ได้จำนวนมาก
ส่วนกรณีที่ กทม.เปิดประตูคลองทวีวัฒนาในช่วงเช้าก่อนเวลาทดสอบนั้น ดร.รอยล ยอมรับว่า การตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำของ กทม. ในช่วงเช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะเป็นช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง แต่โชคดีที่สถานการณ์ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม เขาตัดพ้อว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจไปตามความคิดเห็นของคน อาจไม่ส่งผลดีต่อการทำงานในภาพรวม
ส่วนผลสรุปการทดสอบนั้น ดร.รอยล คาดว่าจะใช้เวลา 2 วันในการสรุปผลเบื้องต้น และใช้เวลา 1 เดือนเพื่อสรุปชัดในรายละเอียด โดยข้อสรุปที่ได้ในวันนี้จะนำไปใช้กับปรับปรุงการทดสอบผลักดันน้ำฝั่งตะวันออก โดยสิ่งที่จะได้จากการทดสอบในวันนี้คือระดับความลึกของใบพัดเรือผลักดันนี้ ว่าตำแหน่งความลึกเท่าไหร่จึงจะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำได้สูงสุด จากค่าที่ประเมินไว้ตอนแรก 50-60 เซนติเมตร ทั้งนี้ผลการทดสอบในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า การผลักดันน้ำเข้าคลองไม่น่ากลัวอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล ขอให้ทุกคนได้ร่วมค้นหาความจริงและกล้าที่จะเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน