นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)เปิดเผยว่า
วันที่ 31 สิงหาคม จะเกิดปรากฏการณ์บลูมูล (Blue Moon) หรือดวงจันทร์จะเต็มดวงรอบที่สองในเดือนเดียวกัน ซึ่งโดยปกติปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวง (Full Moon) จะเกิดขึ้นเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น หากเดือนไหนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง จะเรียกดวงจันทร์เต็มดวงในครั้งที่สองว่า “บลูมูน” ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า Once in a blue moon หมายถึงนาน ๆ จะเห็นสักครั้ง หรือเปรียบได้กับคำว่า Rarely ในภาษาอังกฤษ
นายศรัณย์กล่าวว่า ปรากฏการณ์บลูมูนเกิดขึ้นเนื่องจากใน 1 ปี มี 12 เดือน และบางเดือนมี 30 วัน บางเดือนมี 31 วัน
แต่ว่ารอบของดวงจันทร์มีเพียง 29.53059 วันต่อเดือน และใน 1 ศตวรรษจะมีทั้งหมด 1200 เดือน โดยจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงได้ถึง 1236.83 ครั้ง แต่จะเป็นบลูมูนเพียง 36.83 ครั้ง เฉลี่ยแล้วประมาณ 2.72 ปีต่อครั้ง หรือประมาณ 3% ของฟูลมูนจะเป็นบลูมูน แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือ จะมีการเกิดบลูมูนปีละ 2 ครั้งในทุกๆ 19 ปี ซึ่งปีล่าสุดที่เกิดบลูมูน 2 ครั้งซ้อนในหนึ่งปี (Double Blue Moons) ก็คือปี 2542 และถัดไปคือปี 2561 โดยจะเห็นว่ามีปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง ในวันที่ 2 และ 31 สิงหาคม 2555
นายศรัณย์กล่าวต่อว่า สำหรับวันที่ 31 สิงหาคม จะเห็นดวงจันทร์เต็มดวง รอบที่สองในเดือนเดียวกันทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เวลาประมาณ 18.18 น.
โดยดวงจันทร์เต็มดวงอย่างสมบูรณ์เวลาประมาณ 20.57 น. และตกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ช่วงเช้าวันที่ 1 กันยายน เวลาประมาณ 05.37 น. ตามเวลาประเทศไทย ทั้งนี้ ดวงจันทร์จะสว่างเต็มดวงเหมือนเช่นเคย โดยไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแต่อย่างใด ทั้งนี้ สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ Blue Moon ครั้งต่อไปได้ในวันที่ 02 กรกฎาคม 2558