กทม.เร่งติดตั้งอุปกรณ์กันกระแทก แก้รถตกสะพาน 18 จุดเสี่ยง ลั่นเสร็จ ก.ย.นี้
.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้เร่งติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงกระแทก (crash cushion) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถบนทางต่างระดับและลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ หลังจากก่อนหน้านี้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์พุ่งตกทางยกระดับและทางด่วนถึง 3 ครั้งภายในเดือนเดียว
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักจราจรและขนส่ง กทม. ได้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว 8 จุด
จากจุดเสี่ยงอันตรายที่ได้สำรวจไว้ทั้งสิ้น 18 จุด ได้แก่ บริเวณหัวเกาะ ทางร่วม และทางขึ้นลงสะพาน ซึ่งจะทยอยติดตั้งต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ กทม.จะเร่งปรับปรุงลักษณะทางกายภาพบนทางต่างระดับทุกแห่ง เช่น การตีเส้นชะลอความเร็วเพิ่มเติมในจุดคับขัน การเพิ่มหมุดไฟกระพริบ และเสาบอกแนวเลี้ยวบริเวณทางแยก เพื่อเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็ว รวมทั้งจะมีการติดตั้งป้ายเตือนทางโค้ง ป้ายจำกัดความเร็วและป้าย แนะนำเส้นทางให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
"การติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงกระแทกไม่ได้หมายความว่า กทม.ก่อสร้างทางยกระดับไม่มีประสิทธิภาพ แต่เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น ซึ่งมาตรฐานของ กทม.เป็นมาตรฐานเดียวกับนานาชาติ" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเส้นทางการจราจรอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กทม.
พร้อมให้คำปรึกษาในการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย โดยอุปกรณ์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายแบริเออร์ริมขอบทาง ทำจากโพลีคาร์บอเนตซึ่งเป็นพลาสติกคุณภาพสูง สามารถรับแรงปะทะที่ความเร็วมากกว่า 80 กม./ชม.
ทั้งนี้ จุดเสี่ยงอันตรายจำนวน 18 จุด ได้แก่ 1.สะพานยกระดับจตุรทิศ (เลียบบึงมักกะสัน) 4 จุด 2.สะพานยกระดับคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี 6 จุด 3.สะพานยกระดับรัชวิภา 4 จุด 4.สะพานลอยข้ามแยกเอกมัยเหนือ 1 จุด 5.สะพานลอยข้ามแยกบางกะปิ 1 จุด 6.สะพานลอยข้ามแยกรามคำแหง 1 จุด และ 7.สะพานลอยข้ามแยกพระรามที่ 2 จำนวน 1 จุด
ขณะเดียวกัน ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กทม.จะเร่งดำเนินโครงการนำสายไฟและสายสาธารณูปโภคลงดิน
ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาทัศนียภาพและความสวยงามแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย ซึ่งขณะนี้สภา กทม.อยู่ระหว่างร่างข้อบัญญัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป