วันที่ 17 ส.ค. ในเวทีเสวนา "วิพากษ์การจัดการน้ำและอุทกภัยของรัฐบาล"
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า การบริหารวิกฤตการณ์น้ำของรัฐบาลใช้ไม่ได้ และรู้สึกว่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทั้งแผนปัจจุบัน แผนยุทธศาสตร์ รวมถึงแผนระยะยาว กระบวนการต่างๆ ที่บอกว่าเป็นแผนแม่บทนั้น บอกได้เลยว่าไม่ใช่ เช่นเดียวกับการหาคนมาทำกรอบแนวคิด การเสนอแผนจัดการ หรือการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ควรมีการศึกษาวิเคราะห์แต่ละอย่างว่าจะทำอะไร แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีคำตอบจากคณะผู้ทำงานเปิดเผยออกสู่สาธารณะว่าจะทำอย่างไร จะถามใครก็ไม่มีใครรู้ กฎในการพิจารณาว่าใครเหมาะสมก็ยังไม่รู้
ส่วนความห่วงใยต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมีทางออกอย่างไรนั้น นายปราโมทย์ กล่าวว่า
ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต้องไปคิดว่าจะทำออกมาอย่างไร ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการเปิดเผยแนวทาง ที่เป็นห่วงที่สุดคือปีนี้ ปีหน้า หรือปีต่อๆ ไปจะทำอะไรกัน ระบบที่เป็นรูปธรรม แนวทาง ต้องผ่านการศึกษา ฟลัดเวย์ที่บอกว่าจะมีนั้น รู้หรือยังว่าเป็นอย่างไร ฝั่งไหน ก็ยังไม่มีข้อมูลเช่นกัน ตรงนี้ถ้าขับเคลื่อนไม่ได้ก็หยุดชะงัก เสียเวลาเปล่า
"รัฐบาลไม่สามารถสามารถทำอะไรได้ในสภาวะปัจจุบัน อย่างน้อยควรบอกข้อมูลเจ๋งๆ ให้ประชาชนได้รู้ น้ำท่วมหรือไม่ท่วมต้องฟันธงได้ว่าเป็นไง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกบอ. ส่วนการขับเคลื่อนอย่างถาวรต้องออกมาบอกอย่างชัดเจนว่าทำอะไร" นายปราโมทย์ กล่าว
นอกจากนี้ นายปราโมทย์ ยังกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลมีแต่การวาดภาพว่าไปทางนั้นทางนี้
ซึ่งเป็นแต่เพียงแนวคิด เป็นแต่เพียงการวาดอยู่ในแผนที่ ทั้งนี้ ในปี 2555 ยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ที่พูดก็ไม่ได้หมายความว่าปี 2555 น้ำจะท่วม เพราะมีการรับมือเพิ่มขึ้นมาจาก ปี 2554 นิดหน่อย ปรับปรุงของเก่า ขุดลอกคูคลอง ทำแผนบริหารเขื่อนดีขึ้น แต่อนาคตกรุงเทพ อยุธยา อ่างทอง น้ำจะท่วม
การแก้ปัญหาที่เหมาะสมในระยะเริ่มต้น มองว่า ไม่ใช่การมุ่งแก้ไปที่การทุ่มงบประมาณเพื่อเมกะโปรเจกต์
โดยเฉพาะการทำฟลัดเวย์ ที่ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจน อ้างแต่ว่า สร้างเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในระยะยาว สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สุด ณ ตอนนี้คือการที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานราชการให้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางน้ำ อธิบายหรือตอบคำถามประชาชนในสิ่งที่เขาต้องการรู้ เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ระบุว่า ต้องเคารพสิทธิของประชาชน มากกว่านั้น รัฐบาลต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งก่อสร้างหรือเครื่องมือกลไกต่างๆ จะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน 6 เดือน เป็นไปไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่พูด เช่นเดียวกับการสร้างแก้มลิง ที่มีการสร้างคันกั้นต่างๆ นั้น ก็ไม่เรียกว่าแก้มลิงด้วย