วันนี้ (9 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในผักสดที่วางจำหน่ายในตลาดสด และซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ขอชี้แจงว่า อย. มิได้นิ่งนอนใจ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Unit : MU) สำนักอาหาร ลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพผักผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น (Test Kit)
ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผักผลไม้ทางด้านเคมีและจุลินทรีย์ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเก็บตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม – 25 มิถุนายน 2555
ทั้งหมด 1,987 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ พบจำนวนตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ 69 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.47 แบ่งเป็นตัวอย่างผักผลไม้ที่สุ่มเก็บ จากตลาดสดที่ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 60 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.02 โดยตัวอย่างผักสดที่สุ่มตรวจที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ได้แก่ 1. คะน้า 2. กะหล่ำดอก 3. ต้นหอม และตัวอย่างที่สุ่มเก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.45 โดยตัวอย่างผักสดที่สุ่มตรวจที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ได้แก่ 1. คะน้า 2. มะเขือพวง 3. พริกไทย ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการตักเตือนผู้จำหน่ายผักผลไม้ที่ตรวจพบสารพิษตกค้างทุกราย และหากสุ่มตรวจพบสารพิษตกค้างในสถานที่เดิม อย. จะส่งตัวอย่างผักผลไม้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบหาสารที่เป็นอันตรายอย่างละเอียด
ทั้งนี้ หากผลการตรวจวิเคราะห์พบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร เช่น คาร์โบฟูรานเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง จะจัดเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภคล้างผักผลไม้ก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง โดยใช้โซเดียม ไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา)
และล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่านผักผลไม้ และใช้มือทำความสะอาดนาน 2 นาที หรือใช้ด่างทับทิม แช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที รวมทั้งเลือกบริโภคผักผลไม้ตามฤดูกาล หรือผักพื้นบ้าน เพราะปลูกได้ง่ายไม่ค่อยมีแมลงรบกวน เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีตกค้างในผักผลไม้.