บริษัทอาหารซุ่มคิดสูตรไดเอ็ต - จำลองกลไกสั่งสมองว่าท้องอิ่ม

บริษัทอาหารซุ่มคิดสูตรไดเอ็ต - จำลองกลไกสั่งสมองว่าท้องอิ่ม

ไม่ต้องทำแบบนี้อีกต่อไป

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 กุมภาพันธ์ 2549 10:07 น.

ดิ ออสเตรเลียน - ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่คาดหวังว่า จะทำให้คนที่กำลังควบคุมน้ำหนักอยู่รอดตลอดทั้งวันด้วยบิสกิตหนึ่งชิ้นหรือมิลค์เช็คแก้วเดียว เห็นทีจะล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะขณะนี้บรรดาผู้ผลิตกำลังตั้งหน้าตั้งตาทดลองอาหารเพื่อการไดเอ็ตรุ่นใหม่ ที่จะหลอกให้ผู้บริโภคเชื่อว่าตัวเองอิ่มแล้ว

บริษัทอย่างยูนิลีเวอร์, คราฟต์ และดานอน กำลังทดสอบไฟเบอร์และสตาร์ชชนิดพิเศษเพื่อนำมาใช้กับอาหารประจำวัน และทำให้คนกินรู้สึกอิ่มท้องทั้งที่ไม่ได้อิ่มจริงๆ

เทคโนโลยีใหม่นี้จะจัดการกับปัญหาอันดับ 1 ของผู้ที่กำลังควบคุมอาหาร นั่นคือความหิวโหย ได้อย่างชะงัดนัก

ทั้งนี้ ดานอน บริษัทอาหารจากฝรั่งเศส กำลังคร่ำเคร่งกับไฟเบอร์ชนิดพิเศษที่ช่วยชะลออัตราความเร็วของการเดินทางของอาหารผ่านเข้าสู่ระบบย่อย ทำให้น้ำย่อยคงอยู่ในกระเพาะนานขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าบุคคลๆ นั้นจะรู้สึกอิ่มท้องนานขึ้นด้วยเช่นกัน

ส่วนคราฟต์กำลังพัฒนาสตาร์ชที่ทนทานต่อการย่อยสลายในร่างกาย ปกติแล้ว สตาร์ชจะมีพฤติกรรมเหมือนน้ำตาล แต่ในเวอร์ชั่นของคราฟต์จะเหมือนไฟเบอร์มากกว่า ทำให้ใช้เวลาในการย่อยนาน แต่ไม่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดพุ่งปรี๊ด

ด้านยูนิลีเวอร์กำลังจดจ่อกับเทคโนโลยีที่จำลองมาจากกลไกการทำงานของส่วนปลายลำไส้เล็ก กล่าวคือไขมันจะเข้าสู่บริเวณดังกล่าวเมื่อคนคนนั้น กินมากจนร่างกายย่อยไม่ทัน และอวัยวะส่วนที่ว่าส่งสัญญาณไปบอกสมองว่า อิ่มแล้ว

ยูนิลีเวอร์ค้นพบวิธีจำลองกลไกนี้ โดยระบุว่า เทคโนโลยีของบริษัทสามารถทำให้ร่างกายเชื่อว่า กินอาหารเข้าไป 2,100 กิโลจูล ทั้งที่ความจริงบริโภคเข้าไปเพียง 800 กิโลจูลเท่านั้น

นักโภชนาการ แคเทอรีน แซกเซลบี ชี้ว่าการรู้จักและเข้าใจถึงสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกพอใจหรืออิ่ม เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือให้เรามีและสามารถรักษาน้ำหนักตัวในระดับที่ดีต่อร่างกายไว้ได้

เธอบอกอีกว่า ไม่แปลกใจที่บริษัทอาหารตัดสินใจโฟกัสแนวคิดนี้

ฟังเข้าท่า เพราะเราต่างกำลังคิดหาวิธีที่ทำให้ท้องอิ่มด้วยปริมาณอาหารน้อยลง

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ไดเอ็ตที่เป็นที่นิยมระยะสั้นๆ เมื่อเร็วๆ นี้คือ ไกลซีเม็กซ์ อินเด็กซ์ (จีไอ)ที่มีกลไกการทำงานคล้ายกัน

จีไอ หรือดัชนีคาร์โบไฮเดรต จะจำแนกประเภทอาหารโดยพิจารณาจากผลกระทบต่อระดับกลูโคสในเลือด โดยอาหารที่มีจีไอสูงจะให้กำลังงานสูงภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นเช่นเดียวกัน อันนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคหัวใจ

ในทางกลับกัน อาหารที่จีไอต่ำจะให้กำลังงานช้าลงแต่คงอยู่นานกว่า

การชะลอการย่อยแบบนี้เองที่บริษัทอาหารพยายามจำลองมาใช้

แซกเซลบีเสริมว่า แม้ตัวเธอไม่ได้มีปัญหากับแนวคิดดังกล่าว แต่ก็เชื่อว่า คนเรายังต้องใส่ใจกับสารที่ส่งไปบอกสมองว่า อิ่มแล้ว

ขอเพียงแต่เราหยุดและฟังท้องของตัวเองเท่านั้นก็พอแล้ว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์