เชื้อไวรัสเปลี่ยนสายพันธุ์การระบาด นักเรียน รร.ดังป่วยรวม 22 คน

เชื้อไวรัสเปลี่ยนสายพันธุ์การระบาด นักเรียน รร.ดังป่วยรวม 22 คน

นักเรียนสาธิตจุฬาฯ ป่วยโรคมือ เท้า ปาก รวม 22 คน แต่ไม่พบอาการรุนแรง
 
นักวิชาการไวรัสวิทยาระบุในไทยปี 55 เชื้อแพร่หนักสุดรอบ 30 ปี และมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ระบาด จากเดิมพบเชื้อค็อกซากีเอ 16 และเอนเทอโรไวรัส 71 เป็นค็อกซากีเอ 6 แต่ไม่รุนแรงไม่แตกต่าง ขณะที่เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่มีภูมิต้านทานโรคถึงร้อยละ 60

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์
 
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม แถลงข่าวโรคมือเท้าปากในประเทศไทย

รศ.สุปราณี กล่าวว่า โรงเรียนพบนักเรียนป่วยครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.ค. จำนวน 4 คน ในกลุ่มนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 และปี 2

จากนั้นทยอยป่วยเพิ่ม รวมมีนักเรียนป่วยแล้วรวม 22 คน จึงได้ดำเนินการปิดโรงเรียน และพ่นยาฆ่าเชื้อในทุกห้องภายในโรงเรียน โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบบไม่เข้มข้น หากเปิดเรียนเตรียมออกใบประเมินอาการให้ผู้ปกครองใช้ตรวจสอบดูแลบุตรหลาน ทั้งนี้ โรงเรียนจะกลับมาเปิดเรียนตามปกติในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ โดยมีอัตราการป่วยอยู่ที่ 10 ต่อแสนประชากร พบป่วยมากที่สุดในช่วงเปิดเทอมและฤดูฝน
 
โดยเชื้อโรคจะอยู่ในสารคัดหลั่ง ทั้งน้ำลาย ลำคอ และอุจจาระของเด็ก ซึ่งในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันร้อยละ 60 หากอายุเกิน12 ปี จะมีภูมิคุ้มกันร้อยละ 90 สำหรับในปีนี้พบการระบาดของเชื้อไวรัสเปลี่ยนไปจากเดิมพบเอนเทอโรไวรัส 71 และค็อกซากีเอ 16 แต่กลับพบเชื้อไวรัสค็อกซากีเอ 6 มากที่สุดถึงร้อยละ 80 แต่เป็นเชื้อไม่รุนแรง รองลงมาเป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ชนิดบี 5 ทั้งนี้ การรักษาโรคไม่แตกต่าง คือเน้นการรักษาตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียารักษาและป้องกันโดยเฉพาะ  ในปีนี้ถือว่าพบผู้ป่วยมากที่สุดในรอบ 30 ปี โดยผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้ถึง 3 คน และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการป้องกัน โรคจะหยุดการระบาดต่อเมื่อมีผู้ป่วยเกิน 2 ใน 3

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า หากป่วยด้วยโรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ถือว่าจะมีความรุนแรงมากที่สุด
 
เพราะหากดูแลไม่ดีอาจทำให้เชื้อขึ้นสมอง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ถึงขั้นเสียชีวิต การดูแลเด็กเล็กอย่าปล่อยให้เด็กขาดน้ำ เน้นการดื่มน้ำ เปลี่ยนรับประทานอาหารที่อุ่นหรือเย็นเพื่อให้กลืนง่าย ส่วนโรคที่อาจมีความใกล้เคียงกับโรคมือเท้าปาก ทำให้การวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน ได้แก่ โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) เนื่องจากจะเกิดตุ่มใสในช่องปาก แต่ไม่เกิดตุ่มบริเวณมือและเท้า หากผู้ปกครองไม่แน่ใจควรรีบนำเด็กพบแพทย์ทันที การป้องกันโรคมือเท้าปากสามารถทำได้ด้วยสุขอนามัย หมั่นล้างมือ รับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง .- สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์