เซ็ง !โอลิมปิก จอมืดซ้ำยูโร เหตุทีวีพูล-ช่อง11-ทรูฯ

มติชน 6 กรกฎาคม 2555


นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

กล่าวในงานสัมมนาโต๊ะกลม เรื่อง "โอลิมปิก และบอลโลก ทางออกผู้บริโภค ไม่ต้องชมจอดำ" ว่า ในเรื่องของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม - 12 สิงหาคมนี้ ทางช่อง 3 ในฐานะหนึ่งใน ผู้ถ่ายทอดสดได้ร่วมกับช่อง 5, 7 และ 9 ในนามของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากทางสหภาพวิทยุการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (เอบียู) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง ในภาคพื้นอาเซียนที่รวมตัวกันซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันโอลิมปิกจากเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงจากทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)

นายสุรินทร์กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องรวมตัวกันซื้อเพื่อจะทำให้ได้ราคาที่ถูก เนื่องจากปัจจุบันมูล ค่าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดปรับขึ้นไปสูงมาก

แต่ข้อติดขัดในตอนนี้อยู่ที่ลิขสิทธิ์ที่ทางทีวีพูลที่ได้มาจากเอบียูนั้น เป็นลิขสิทธิ์ในรูปแบบของการบังคับให้ออกอากาศได้เฉพาะในระบบภาคพื้นดินเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสัญญาณในระบบเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียมต่อ ซึ่งการถ่ายทอดสัญญาณไปยังระบบทีวีดาวเทียมจะต้องเป็นแบบระบบเข้ารหัส อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิคผู้ประกอบการสามารถเข้ารหัสได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับทางผู้ประกอบการจะทำหรือไม่

"ขณะนี้ทางตัวแทนของทีวีพูล กำลังเร่งรัดการเจรจากับไอโอซี เพื่อขออนุญาตเป็นการพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมไทยให้สามารถส่งต่อสัญญาณแพร่ภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะเจรจาได้สำเร็จ ตอนนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ประชาชนที่รับชมผ่านช่องทางเหล่านี้จะต้องจอดำ" นายสุรินทร์กล่าว

นายสุรินทร์กล่าวว่า ผู้ที่ถือลิขสิทธิ์อนุญาตแพร่ภาพถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกในไทย ไม่ได้มีแต่ทางทีวีพูล แต่ยังมีสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง 11 ที่ซื้อลิขสิทธิ์โดยตรงจากทางเอบียู ในลักษณะบังคับการออกอากาศเฉพาะภาคพื้นดินเช่นเดียวกัน และบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่ซื้อลิขสิทธิ์โดยตรงจากทางไอโอซี


เซ็ง !โอลิมปิก จอมืดซ้ำยูโร เหตุทีวีพูล-ช่อง11-ทรูฯ

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
 
ในฐานะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กำกับดูแลด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ได้เตรียมนำกรณีปัญหาการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเข้าหารือในบอร์ด กสท.วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ถึงแนวทางการจัดการปัญหาทีวีจอดำ โดยช่วงกลางสัปดาห์หน้าจะเข้าพบนาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลช่อง 11 โดยตรง เพื่อหารือถึงทางออกของปัญหา อาทิ ให้ช่อง 11 ไปร้องขอไอโอซี หรือหากไอโอซีไม่ยอม อาจมองไปถึงการให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการให้ช่อง 11 ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสัญญาณทุกช่องทาง โดยในเร็วๆ นี้จะเชิญทางผู้บริหารช่อง 11 และทีวีพูล มาร่วมหารือร่วมกัน

น.ส.สุภิญญากล่าวว่า ต้องการให้ช่องฟรีทีวีที่ปรับผังรายการเพื่อถ่ายทอดสดโอลิมปิก ต้องทำเรื่องมาให้ กสทช.

พิจารณาตามข้อบังคับ มาตรา 34 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ส่วนในระยะยาว กสทช. จะจัดทำรายละเอียดร่างหลักเกณฑ์การนำพาช่องรายการโทรทัศน์ที่สามารถรับชมได้เป็นการทั่วไปหรือ "มัสต์ แครี" ให้ครอบคลุมการแก้ปัญหา ผ่านการหารือร่วมกับกรมทรัพสินทางปัญญา รวมทั้งการจัดทำร่างประกาศจะทำให้ครอบคลุมการนำเข้ากล่องที่บังคับให้สามารถเข้ารหัสสัญญาณได้ หรือมีช่องให้สามารถเข้ารหัสได้ด้วยการนำการ์ดเสียบได้

"โอลิมปิกเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า สำคัญกว่า และจะมีผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า หากเกิดปัญหาจอดำ ขณะที่ กสทช.ยังออก มัสต์ แครี มากำกับดูแลไม่ทัน ดังนั้นการแก้ปัญหาเบื้องต้นอยากให้เป็นการหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการฟรีทีวี และทีวีดาวเทียม โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง" น.ส.สุภิญญากล่าว

ส่วนตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า
 
หากจะนำปัญหาการถ่ายทอดสดขึ้นมาถกเถียงกันจริง ขอยืนยันว่า ที่ผ่านมาช่อง 7 ไม่เคยอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวีรายใดนำสัญญาณภาพของช่อง 7 ไปออกออกกาศ
จึงถือว่า ผู้ที่นำสัญญาณภาพช่อง 7 ไปออกอากาศต่อทำผิดมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่ไทยมีระบบทีวีดาวเทียมเข้ามา

ขณะที่ตัวแทนบริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้งส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียม "พีเอสไอ"
 
ระบุว่า การแก้ปัญหาการรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม หากสามารถเข้ารหัสกล่องรับสัญญาณได้ จะช่วยแก้ปัญหาได้ประมาณ 9 ล้านกล่อง จากจำนวนที่มีประมาณ 10.5 ล้านกล่อง รวมทั้งในทางเทคนิคจะมีวิธีป้องกันสัญญาณดาวเทียมออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการปลดล็อกรหัสและออกอากาศด้วยตัวเอง จะขัดต่อการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์แน่นอน และทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำแบบนี้

นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล อุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของเคเบิลทีวี การรับชมกีฬาโอลิมปิกจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
 
เนื่องจากสถานีท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนตัวรับสัญญาณแพร่ภาพโทรทัศน์จากระบบดาวเทียม มาเผยแพร่ให้ลูกค้าในระบบที่รับสัญญาณตรงจากเสาก้างปลาแทนได้ แต่อาจจะมีปัญหาสัญญาณภาพที่ลดลง นอกจากนี้ในส่วนของทีวีดาวเทียมคงเป็นเรื่องยากที่จะได้ถ่ายทอดสด เพราะคงไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้าเสี่ยงต่อการถูกฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ โดยผู้รับชมในระบบนี้ที่มีอยู่ราว 5 ล้านครัวเรือนในประเทศ ต้องประสบปัญหาจอดำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางแก้มีเพียงทางเดียวคือ ต้องให้ กสทช.สั่งให้ช่อง 11 ในฐานะทีวีของภาครัฐซื้อลิขสิทธิ์เพิ่มเติมจากทางไอโอซี

ด้านนายรุ่งรัตน์ ศรีไพรสนธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจบรอดแคสต์ บริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ในส่วนของอาร์เอส ที่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 ได้รับลิขสิทธิ์มาในฐานะที่สามารถเผยแพร่ได้ทุกช่องทาง ฉะนั้นบอลโลกจะไม่มีปัญหาจอดำแน่นอน ทั้งนี้ มีกลุ่มเดียวที่ไม่สามารถรับชมได้ คือผู้ที่รับชมผ่านกล่องชนิดเก่าของทีวีดาวเทียมในชนิดที่ไม่สามารถเข้ารหัสสัญญาณได้ ซึ่งปัจจุบันเหลือจำนวนน้อยมาก

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์