ปลอดประสพ โวแผนจัดการน้ำภาพรวมเสร็จแล้ว 70-80% มั่นใจเอาอยู่ รับแผนขุดลอก-บุกรุกคลองสาธารณะล่าช้า จี้กทม.-พม.-มท.เร่งดำเนินการ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงผลการประชุมติดตามความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า แผนงานบริหารจัดการน้ำในภาพรวมเสร็จไปแล้วประมาณ 70-80 % และยืนยันว่าหากปริมาณน้ำเท่ากับปีก่อน จะสามารถบริหารจัดการได้แน่นอน
ทั้งนี้ แผนงานที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาทิ ฝายต้นน้ำ 2,000 แห่ง พื้นที่รับน้ำ 2.1 ล้านไร่ ซึ่งจะใช้ระบบเงินชดเชยในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการพร่องน้ำในเขื่อนหลัก ซึ่งสามารถรับน้ำและเก็บน้ำได้ และมั่นใจได้ว่าเมื่อมีพายุจะสามารถรับน้ำได้เต็มที่ ไม่เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมทั้งมีการซ่อมประตูระบายน้ำที่เสียหายแล้วทั้งหมด
ส่วนการเสริมความสูงเป็นแนวปิดล้อมพื้นที่สำคัญระยะทาง 500 กม. จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 9 ก.ค. โดยมีผู้รับเหมาทั้งสิ้น 120 ราย เข้ามาทำงานร่วมกัน จึงเชื่อว่าจะเสร็จภายใน 7-15 วันแน่นอน รวมทั้งการเสริมความยาวคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริหรือ King’s Dike ทางฝั่งตะวันออกซึ่งคลอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือกทม. ซึ่งมีผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่กำลังดำเนินการและคอยติดตามอยู่ คือ ระบบคลังข้อมูลที่แต่ละหน่วยต้องมาเชื่อมระบบต่อกัน การติดตั้งกล้องวงจรปิดและระบบโทรมาตร ขยายคลองลัดของแม่น้ำท่าจีน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้ดีขึ้น และจัดระเบียบการบริหารจัดการอัตราการไหลของน้ำให้เป็นรายวัน จากเดิมราย 7 วัน
อย่างไรก็ตาม ที่ต้องติดตามและยังมีข้อสงสัย คือ การเชื่อมต่อระบบเตือนภัยระหว่างหน่วยงานต่างๆ แก้ปัญหาจุดบอดในการระบายน้ำผ่านคลอง ท่ารถไฟ จุดผ่านเมือง ลำน้ำผ่านเมือง เช่น จ.สุโขทัย แม่น้ำยม การติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อตรวจสอบการใช้งานและจุดติดตั้งที่เหมาะสม รวมทั้งการบริหารจัดการแบบ Single Command Centre
นอกจากนี้ ที่ยังล่าช้าและมีปัญหาอยู่ คือ การปลูกหญ้าแฝกกันดินพังที่ยังอยู่ระหว่างการเพาะกล้า การขุดคูคลองขนาดเล็กในกทม. การแก้ปัญหาบุกรุกลำคลองสาธารณะ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ต้นน้ำบางแห่งยังไม่แล้วเสร็จ ตามที่ได้กำหนดไว้ในเดือนมิ.ย. จึงจำเป็นต้องเร่งรัดให้เสร็จทัน และจะมีการประชุมเพื่อติดตามการทำงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นรายสัปดาห์ โดยนายกรัฐมนตรีจะประชุมทุกวันพฤหัสบดี เพื่อเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในต่างจังหวัดจะได้เดินทางลงพื้นที่ได้ในวันเสาร์- อาทิตย์