โฆษกกระทรวงมหาดไทย ยังระบุด้วยว่า เงินเยียวยาเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ ที่จะชดใช้ความเสียหาย
ขณะเดียวกันการร้องทุกข์ด้วยการปิดถนน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายภาคส่วน เจ้าหน้าที่จะดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด และผู้เสียหายสามารถร้องทางแพ่งต่อผู้ที่ออกมาปิดถนนได้ด้วย
สำหรับการเก็บข้อมูลตรวจสอบมูลค่าความเสียหาย เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องมีความเป็นธรรม และเสมอภาคเท่าเทียม
อย่านำเรื่องการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งขอให้มีความโปร่งใสเป็นธรรม ชดเชยในจำนวนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ ซึ่งจากการพูดคุยกับประชาชนที่เดือดร้อนส่วนใหญ่ต้องการความเป็นธรรมเสมอภาค อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบาย เรื่องความเป็นธรรม ให้หน่วยงานท้องถิ่นที่สำรวจความเสียหายครั้งใหม่ ตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี ที่ขอให้สำรวจแล้วเสร็จภายใน 30 วันไปแล้ว
ขณะที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า
จากกรณีมีประชาชนร้องเรียนขอความเป็นธรรม ขอให้ทบทวนการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาช่วยเหลือน้ำท่วมเมื่อปี 2554 โดยปัจจุบันมีจังหวัดที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และกทม.
เบื้องต้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวันตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดย กทม.ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ก.ค. ส่วนอีก 6 จังหวัดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ก.ค.
ขณะที่ชาวชุมชนเกาะเกร็ดกว่า 300 คน รวมตัวประท้วงที่ลานเอนกประสงค์วัดปรมัยยิกาวาส ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
หลังจากได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมไม่เท่ากัน โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและถูกน้ำท่วม 100 % นางสมพร สุดประพันธ์ ชาวชุมชนเกราะเกร็ด กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดมาตรวจสอบความเสียหาย และการรวมตัวกันเรียกร้องครั้งนี้ เพราะไม่เชื่อว่ามีความโปร่งใสในการจ่ายค่าชดเชย เนื่องจากบ้านที่อาศัยอยู่ อยู่ริมน้ำถูกน้ำท่วมทั้งหลัง แต่กลับได้รับค่าชดเชยเพียง 9,700 บาท แต่บ้านใกล้กันถูกน้ำท่วมน้อยกว่า กลับได้รับเงินเยียวยามากถึง 20,000 บาท จึงอยากเรียกร้องและอยากให้ทุกครัวเรือนได้รับเงินชดเชยหลังละ 20,000 บาท เท่าๆกัน
และหลังการชุมนุมเรียกร้องนานกว่า 3 ชั่วโมง นายวิสิษฎ์ พวงเพชร นายอำเภอปากเกร็ด
พร้อมด้วย พันตำรวจเอกธวัชชัย นาคฤทธิ์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด เข้าเจรากับกลุ่มชาวบ้าน โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้น ให้ชาวชุมนชนที่ไม่พอใจกับการได้รับเงินชดเชยที่ไม่เท่าเทียมกัน ยื่นเอกสารใหม่กับทางอำเภอปากเกร็ด ก่อนในวันที่ 15 มิ.ย. และทางอำเภอจะนำเอกสารเข้าที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 18 มิ.ย. ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจรับข้อเสนอดังกล่าว
ส่วนที่ ต.โสนลอย อ.บางบัวทอง ที่ชาวชุมชนในอำเภอบางบัวทองและบริเวณใกล้เคียงออกมาเรียกร้อง ให้มีการจ่ายเงินชดเชยในจำนวนเงิน 20,00 บาท เท่าเทียมกัน
โดยหลังจากการเจรจากับ ตัวแทนของรองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายอำเภอบางบัวทอง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะยอมจ่ายเงินค่าชดเชยให้รายละ 20,000 บาท โดยไม่ต้องทำเรื่องใหม่ โดยผู้ประสบภัยคนใดที่ได้เงินไม่ครบ จะให้มารับเงินเพิ่มในจำนวนที่ร้องขอมา