วานนี้ 11 มิถุนายน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
แถลงข่าวการประกวดสารคดีสั้นภายใต้แนวคิด คนรุ่นใหม่ หัวใจรักษ์น้ำบาดาล โดยนายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรี และโฆษก ทส.กล่าวว่า น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ มีสถานที่เก็บของมันเองอยู่แล้วตามธรรมชาติไม่ต้องไปเบียดเบียนที่ของใครเพื่อมากักเก็บน้ำ และจะเป็นตัวที่แก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนในช่วงฤดูแล้งได้อย่างดี โดยธรรมชาติแล้ว เวลานี้ประเทศไทยมีน้ำบาดาลมากกว่าน้ำผิวดินถึง 24 เท่า พบว่า 90% ของพื้นที่ในประเทศไทย ล้วนมีน้ำบาดาลทั้งสิ้น แต่คุณสมบัติของน้ำบาดาลแต่ละที่แตกต่างกัน เวลานี้ ทส.มีนโยบายที่จะขุดบ่อบาดาลเพื่อบริการประชาชน อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 บ่อ เป็นอย่างน้อย มั่นใจว่า เรื่องนี้จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในฤดูแล้งให้หมดไปได้
ด้านนายสัมฤทธ์ ชุษณะทัศน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า
ตอนนี้เราเจอแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งเป็นน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุสำคัญอย่าง วานาเดียม (vanadium) ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับการยอมรับและมีผลวิจัยด้านการแพทย์เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติแล้วว่าใช้รักษาและบรรเทาอาการโรคเบาหวานได้ด้วย รวมทั้ง ซีลีเนียม (selenium) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ให้ความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และเพิ่มความปึ๋งปั๋งให้กับผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่ว่าน้ำแร่จากน้ำบาดาลทุกพื้นที่จะมีแร่ธาตุเหล่านี้ จะมีในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 แร่ธาตุนี้จะเจอในบางที่ที่มีหินภูเขาไฟเท่านั้น”
รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวว่า ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีบริษัทเอกชนที่ผลิตน้ำแร่ออกมาขาย มีโฆษณากันอย่างชัดเจนว่า
เป็นน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุวานาเดียมและซีลีเนียม บำบัดอาการเบาหวาน และช่วยให้เกิดความกระปรี้กระเปร่าในผู้ชาย แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว จะมาโฆษณาแบบนี้มีปัญหากับองค์การอาหารและยา (อย.) อย่างแน่นอน จึงต้องวางแผนการทำงานอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายในประเทศ อาจจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้เรื่องน้ำแร่ในประเทศไทย เป็นต้น
เมื่อถามว่า แหล่งน้ำบาดาลที่เป็นน้ำแร่ ซึ่งมีส่วนผสมของแร่ธาตุดังกล่าวอยู่ที่ไหน นายสัมฤทธิ์กล่าวว่า
ยังบอกไม่ได้จริงๆ ว่าอยู่ที่ไหน เพราะบอกไปแล้วจะเกิดความแตกตื่นในหมู่ประชาชน ทั้งนี้ น้ำแร่ในแต่ละพื้นที่ แต่ละแหล่งนั้นจะมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน มีความอ่อนเข้มของแร่ธาตุที่แตกต่างกัน สำหรับบ่อน้ำบาดาลที่เป็นน้ำแร่ ที่พบแร่ธาตุทั้งสองชนิดนี้ อยู่ในพื้นที่ที่มีหินภูเขาไฟ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เอาไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แล้ว พบว่ามีส่วนผสมของแร่ธาตุนี้จริงๆ และตามรายงานงานวิจัยก็พบว่า แร่ธาตุดังกล่าวมีคุณสมบัติข้างต้นจริง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะต้องทำคือ การให้ความรู้ประชาชนเรื่องประโยชน์ของน้ำบาดาลก่อน
เมื่อถามอีกว่า น้ำบาดาลที่เป็นน้ำแร่ ที่มีแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้อยู่ สามารถนำมาดื่มได้ทันทีหรือไม่ หรือต้องผ่านขั้นตอนอะไรอีกบ้าง
นายสัมฤทธิ์กล่าวว่า ถ้าจะนำมาบรรจุขวดแจกจ่าย ก็ต้องผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการอยู่กับบ่อน้ำบาดาลทั่วประเทศเวลานี้ แต่ถึงแม้เป็นน้ำดิบ น้ำบาดาล ก็ผ่านขั้นตอนการกรองในธรรมชาติจากชั้นดิน ชั้นหินอยู่แล้ว สามารถดื่มกินได้ทันทีเมื่อสูบขึ้นมาใช้