วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ รพ.พระมงกุฏเกล้า นพ.สุทธจิต ลีนานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทั่วไป รพ.พระมงกุฏเกล้า กล่าวว่า
ในปัจจุบันคาดว่ามีคนไทยที่เป็นโรคอ้วนเกินขนาด ประมาณ 1 แสนคน ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ซึ่งคนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนปกติกว่า 2,000 เท่า เพราะมีภาวะแทรกซ้อนหลายโรค จึงจำเป็นต้องการได้รับการผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลง โดยวิธีการผ่าตัดมี 3 วิธีด้วยกันคือ การผ่าตัดรัดกระเพาะอาหาร การผ่าตัดบายพาส และการผ่าตัดแบบสลีฟที่เป็นการตัดกระเพาะส่วนหนึ่งออกไป
ทั้งนี้ ในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา ทีมของตนผ่าตัดให้คนไข้ที่เป็นโรคอ้วนไปแล้ว กว่า 300 ราย อายุต่ำสุด 19 ปี อายุสูงสุด 65 ปี
น้ำหนักมากที่สุดอยู่ที่ 260 กก. ส่วนการผ่าตัดโรคอ้วนทั่วประเทศตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 700 ราย สำหรับการผ่าตัดส่วนใหญ่ได้ผลดี ขณะที่วิธีที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ การผ่าตัดบายพาส รองลงมาคือการผ่าตัดกระเพาะส่วนหนึ่งออกไป ส่วนการผ่าตัดรัดกระเพาะทำน้อยที่สุด
โดยในส่วนของผลแทรกซ้อนการผ่าตัดมีประมาณ 20% เช่น เลือดออก รอยต่อรั่ว เย็บไม่ติด ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด และเสียชีวิต
โดยในจำนวน 300 รายที่ได้ผ่าตัดมีเพียง 1 ราย ที่เสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด กรณีการผ่าตัดรัดกระเพาะโดยใช้แหวนซิลิโคนนั้น อาจมีผลข้อเสีย เช่น ในระยะยาวแหวนที่รัดไว้อาจเลื่อน และกัดกร่อนเนื้อเยื่อได้ รวมทั้งแหวนอาจเสื่อมสลายภายใน 20-25 ปี ส่วนการทำบายพาส ข้อเสีย คือ อาจทำให้ผู้ป่วยขาดวิตามินหรือแร่ธาตุอาหารได้ จึงต้องกินวิตามินเสริม โดยค่าใช้จ่ายทั้ง 3 วิธีอยู่ที่ 200,000-250,000 บาท
นพ.สุทธจิต กล่าวต่อว่า สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด สามารถทำได้ทุกอายุ ตั้งแต่วัยรุ่นที่หยุดสูงแล้วไปจนถึงอายุ 65 ปี
โดยในคนที่มีดัชนีมวลกาย 32 และมีภาวะแทรกซ้อน หรือมีดัชนีมวลกาย 37 แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ผ่าตัดได้ แต่ก่อนจะผ่าตัดสิ่งสำคัญคือคนไข้จะต้องมีไอคิว อีคิว คือมีขีดความสามารถในการตัดสินใจ เข้าใจการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะในเรื่องระเบียบวินัย การควบคุมอาหาร
ปัจจุบันมีจำนวนคนไข้โรคอ้วนที่ต้องการผ่าตัดจำนวนมาก
ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรกำหนดให้การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนอยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน เพราะถ้าปล่อยให้เป็นโรคอ้วนต่อไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ที่เสียค่ารักษาที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัด ซึ่งในต่างประเทศอย่างที่ยุโรปและสหรัฐฯ ได้ให้สิทธิประโยชน์นี้แล้ว
ด้าน น.ส.กัญญ์รินท์ เกตุสุวรรณ อายุ 37 ปี กล่าวว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วตนมีน้ำหนัก 84 กก. จึงตัดสินใจเข้ารับผ่าตัดด้วยวิธีตัดกระเพาะบางส่วนออกไป
เพราะที่ผ่านมาพยายามลดความอ้วนทุกวิธีแล้ว แต่น้ำหนักไม่ลด และอยากสวย ปัจจุบันน้ำหนักอยู่ที่ 53 กก. ทานอาหารแต่ละมื้อได้น้อยมาก เช่น มื้อเช้านี้ก็กินปลาทู 1 ตัว กลางวันกินก๋วยเตี๋ยวหมู 1 ชาม แต่เลือกกินหมู ไม่กินเส้น และดื่มน้ำทันทีไม่ได้ ต้องรอหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อาหารผ่านกระเพาะเร็วเกินไป ทุกวันนี้ถือว่าประหยัดค่าอาหารได้เยอะมาก ไม่ต้องทานข้าวนอกบ้าน แต่ก็ต้องคอยทานวิตามินรวม แคลเซียม เพื่อป้องกันการขาดวิตามิน.