หน้าฝนระวัง เห็ดมรณะ พิษรุนแรงเปิบตายสถานเดียว สธ.

ช่วงฤดูฝนเหมาะต่อการเจริญพันธุ์ของเห็ด ทำให้มีเห็ดป่าหลายชนิดที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ประกอบกับคนไทยนิยมบริโภคเห็ด

เนื่องจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่เห็ดบางชนิดไม่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากมีสารพิษเป็นส่วนประกอบ เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการมึนเมา ประสาทหลอน หากบริโภคมากเกินไปอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์น่าสลดใจที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านป่าโปงสูง ต.ป่าโปง และราษฎรบ้านคอนผึ้ง ต.แม่คะตวน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่กินเห็ดพิษเข้าไปจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ศพ จากจำนวนผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเข้าไป 17 ราย สาหัส 4 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

นายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.แม่ฮ่องสอน ประกาศเตือนราษฎรที่ชอบรับประทานเห็ดว่า
 
ขณะนี้มีราษฎรชาวไทยภูเขาบ้านป่าโปงสูง หมู่ 1 ต.ป่าโปง เสียชีวิต 6 ราย และบ้านคอนผึ้ง หมู่ 5 ต.แม่คะตวนเสียชีวิตอีก 3 ราย ส่วนคนที่รอดชีวิตจากการกินเห็ดพิษ เนื่องจากกินปริมาณไม่มากซึ่งการกินเห็ดพิษเสียชีวิตในครั้งนี้ ทำให้หมู่บ้านป่าโปงสูงบรรยากาศถึงกับเงียบเหงา ชาวบ้านอยู่ในสภาวะซึมเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุสลด นายแพทย์ศรัญ พรมวังขวา พร้อมทีมแพทย์ สสอ. เจ้าหน้าที่จิตวิทยา กว่า 10 คน
 
เดินทางเข้าไปให้การรักษาพยาบาล และเยียวยาจิตใจราษฎรชาวไทยภูเขาบ้านป่าโปงสูง พร้อมติดตามอาการ 2 หนูน้อยที่รอดชีวิตจากการกินเห็ดพิษเข้าไป ทั้งนี้หลังเกิดเหตุร้ายผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านต่างคิดและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องมีเรื่องที่ไม่ดี มีการผิดผี หรือผิดประเพณี เกิดขึ้นในหมู่บ้านแน่นอน เพราะไม่ถึง 2 ปีก็มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นในหมู่บ้านถึง 2 ครั้ง โดยเมื่อต้นปีที่แล้วเกิดฟ้าผ่ากระบือตายยกฝูง 12 ตัว มาในปีนี้เวลาใกล้เคียงกันก็มีคนในหมู่บ้านตายพร้อมกันถึง 6 ราย ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนต่างจับกลุ่มพูดคุยหารือแนวทางในการแก้อาเพศที่เกิดขึ้น บทสรุปคือชาวบ้านต่างช่วยกันรื้อบ้านของผู้ตายซึ่งเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากเชื่อว่าหากผู้หญิงเสียชีวิตจะทำให้ครอบครัวไม่เป็นสุขต้องรื้อบ้านเรือนทิ้งแล้วสร้างที่แห่งใหม่ หรือไปอาศัยกับญาติพี่น้อง หากต้องการกลับมาสร้างที่ดินเก่า ต้องปล่อยทิ้งร้างไว้ 3 ปี


หน้าฝนระวัง เห็ดมรณะ พิษรุนแรงเปิบตายสถานเดียว สธ.

ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับครอบครัวที่กินเห็ดพิษตายนั้น ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 43 จ.แม่ฮ่องสอน ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 1,000 บาท จำนวน 6 ราย

สำหรับเหตุการณ์เห็ดพิษเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-28 พ.ค.ที่ผ่านมา ใน จ.แม่ฮ่องสอน มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 3 ครั้ง คือใน อ.สบเมย 2 ครั้ง อ.ปางมะผ้า 1 ครั้ง โดยสรุปดังนี้ เหตุการณ์แรก มีผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษจำนวน 8 ราย ที่หมู่ 1 ต.ป่าโปง อ.สบเมย ซึ่งเป็นการรับประทานเห็ดพิษใน 2 ครอบครัว มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เห็ดที่รับประทานนำมาจากเพื่อนบ้านรายหนึ่ง ลักษณะเป็นดอกสีขาวยังไม่ตูม ทีมสอบสวนโรคได้ส่งตัวอย่างเห็ดจากบริเวณป่าที่ไปเก็บ และเห็ดที่ผู้เก็บไปชี้จุดยืนยันเก็บส่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 6 ตัวอย่าง

ซึ่งยังไม่ทราบผล เหตุการณ์ครั้งที่ 2 มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเนื่องจากการกินเห็ดเข้ารับการรักษาใน รพ.สบเมย 4 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยชาวกะเหรี่ยง
 
โดยเก็บเห็ดจากป่าบริเวณบ้านห้วยหวาย หมู่ 2 ต.แม่สวด อ.สบเมย จำนวน 5 ดอก เห็ดดังกล่าวมีลักษณะดอกตูม สีขาว หมวกเห็ดมีลักษณะเรียบลื่น ไม่มีเมือกหรือยางเหนียว ผู้เก็บเข้าใจว่าเป็นเห็ดไข่ห่านไข่เหลือง จึงนำมาแกง ก่อนจะถูกส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่ รพ.ลานนาเชียงใหม่ 1 ราย รพ.นครพิงค์ จำนวน 2 ราย รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ 1 ราย ต่อมาเสียชีวิต 3 ราย รอด 1 ราย และเหตุการณ์ล่าสุด มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเนื่องจากการกินเห็ดเข้ารับการรักษาใน รพ.ปางมะผ้า 5 ราย เป็นกลุ่มทหาร จากฐานปฏิบัติการหลักแต่ง ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ได้ให้ประวัติรับประทานเห็ดที่มีลักษณะคล้ายเห็ดระโงกหิน ขณะนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ออกจากโรงพยาบาลปางมะผ้าแล้ว 1 ราย อีก 4 รายส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง โดยในจำนวนนี้ 2 ราย อาการหนัก เตรียมส่งต่อไปรักษาที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี อัสชล บุญมาดำ นักวิชาการชำนาญการ จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสบเมย และ นายกฤต วงศ์น้อย หัวหน้าสถานีอนามัยแม่กองแป

เดินทางพร้อม นายไมตรี ชีวพิพัฒกุล ราษฎรบ้านป่าโปงสูง ต.ป่าโปง อ.สบเมย เป็นผู้ที่เข้าไปเก็บเห็ดจากป่ามาแบ่งปันให้เพื่อนบ้านปรุงอาหาร ส่งผลทำให้เพื่อนบ้านเสียชีวิตไป 6 ราย ได้พาเจ้าหน้าที่ไปดูพื้นที่เก็บเห็ดพิษในป่า เพื่อนำตัวอย่างมาตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งพื้นที่ที่เก็บเห็ดพิษนั้นอยู่ห่างจากพื้นที่การเกษตร และพบว่ามีเห็ดหลากหลายชนิดเกิดขึ้น คล้าย ๆ กับพวกเห็ดไข่ห่าน บางชนิดมีวงแหวนรอบ บางชนิดไม่มี ซึ่งดูความแตกต่างของเห็ดพิษ และไม่มีพิษแทบไม่ออก เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างเห็ดทั้งหมด เพื่อส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อีกครั้ง

ภายหลังมีผู้กินเห็ดพิษเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง นายแพทย์ไพศาล ได้ออกมาประกาศเตือนสั่งงดเก็บและบริโภคเห็ดไข่ห่านไข่เหลือง
 
โดยเน้นประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแขนงให้งดรับประทานเห็ดไข่ห่าน หรือไข่เหลือง เพราะไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ ไม่เช่นนั้นจะเกิดมีผู้เสียชีวิตอีก เห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดไข่ เห็ดถอบ เห็ดโคน เห็ดหล่ม ที่กินได้ไม่มีพิษ แต่เห็ดบางชนิดมีสีขาวเหมือนเห็ดธรรมดา เมื่อยังอ่อนจะคล้ายเห็ดที่รับประทานได้กระจายอยู่ทั่วไป

สำหรับเห็ดไข่จะมีลักษณะดอกสวยมี 2 สี คือ สีเหลือง และสีขาว ดอกตูมคล้ายไข่ไก่ โดยเฉพาะเห็ดที่เก็บมาจากป่า

หากเป็นเห็ดมีพิษจะมีลักษณะสีเข้มฉูดฉาด เช่น สีแดงส้ม มีวงแหวนพันรอบก้าน ดอกมีขน และหนามเล็ก ๆ มีเมือกหรือน้ำยางสีขาวออกมาที่หมวกเห็ด เมื่อรับประทานเห็ดพิษเข้าไปอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียนอย่างรุนแรง บางชนิดทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน บางรายบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมเหล้า เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และทำให้พิษกระจายได้รวดเร็วรุนแรงขึ้น หากพบผู้รับประทานเห็ดมีพิษควรช่วยเหลือปฐมพยาบาล โดยพยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาอาหารออกมาให้หมด

ซึ่งจะทำให้มีอาการดีขึ้น แล้วให้นำส่งต่อโรงพยาบาล ขอเตือนประชาชนผู้บริโภคเห็ด ควรระมัดระวังการเลือกเก็บเห็ดมาบริโภค หรือจำหน่ายด้วย
 
อย่ารับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก หรือไม่รู้แหล่งที่มา ควรตรวจสอบให้ดีก่อน เนื่องจากปัจจุบันรูปทรงของเห็ดแต่ละชนิดมีลักษณะคล้ายกันจนบางครั้งแยกแทบไม่ออกว่ามีพิษหรือไม่ ทั้งนี้หากไม่มั่นใจเห็ดที่เก็บมา หรือคนนำมาให้อย่านำมาปรุงอาหารรับประทานเด็ดขาด ทั้งนี้เห็ดที่ชาวบ้านเก็บมาบริโภคจะมีลักษณะคล้ายเห็ดระโงกหรือที่เรียกว่าเห็ดไข่ห่าน ไข่เหลือง มีสารพิษซึ่งสามารถทำลายเซลล์เกือบทุกส่วนของร่างกาย อาการจะเริ่มเมื่อได้รับพิษประมาณ 6-12 ชั่วโมง หรือบางรายอาจถึง 24 ชั่วโมง เริ่มจากทางเดินอาหารผิดปกติ อาเจียน ท้องเดิน เป็นตะคริว ความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่ได้รับพิษอาจตายในระยะแรกที่ตับบวมโต เจ็บบริเวณตับ และตับไม่ทำงาน

ปัจจุบันจากการรักษายังไม่มียาต้านพิษโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเข้าไป พิษจะไปทำลายตับมากที่สุด และทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะภายในร่างกาย ทั้งลำไส้ กระเพาะอาหาร ไต บางชนิดทำลายระบบประสาท คนที่รับประทานเห็ดพิษเข้าไปปริมาณมาก ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตแทบทุกราย.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์