ด้านนายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า
ได้รับแจ้งจากศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) ว่าได้หารือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ใช้วิธีเจรจาอีกครั้ง และนำนักเรียนไปดูสถานที่เรียนใหม่ อยากเรียนโรงเรียนไหนในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายศธ.จะจัดให้ แต่คงรับเข้าโรงเรียนเดิมไม่ได้ ล่าสุดนายสุวัฒน์ ได้ตรวจสอบจำนวนนักเรียนสละสิทธิ์มี 13 คน ดังนั้นจะรับเพิ่มได้เท่าที่สละสิทธิ์จะให้รับทั้ง 200 คนคงไม่ได้
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า หากกลุ่มผู้ปกครองไม่ยอมและประท้วงอดอาหารต่อทาง ศ.ดร.สุชาติ ได้แจ้งว่า
ก็ต้องปล่อยให้อดอาหารต่อไป เพราะเราพยายามเจรจาทุกวิถีทางแล้ว แต่ผู้ปกครองยืนยันและเรียกร้องเพิ่มเติมให้ ศธ.ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ให้นักเรียนชั้น ม.3เรียนต่อชั้นม.4 โรงเรียนเดิม80%อีก20%เป็นอำนาจโรงเรียนกำหนดหลักเกณฑ์เอง เพื่อให้รับนักเรียนเก่า 100%ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หากทำเช่นนี้จะเกิดความโกลาหลต่อระบบการรับนักเรียนทั้งประเทศ ทั้งนี้ตนได้ส่งเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยของเด็กประท้วงตลอดเวลาเพื่อคอยสังเกตอาการหากเป็นลมหรือเกิดอะไรขึ้นจะได้ช่วยส่งรพ.ได้ทัน
“ผมเจรจากับเด็กและผู้ปกครองว่า ไปคุยกันที่โรงเรียนดีกว่าแทนที่จะมานั่งอยู่ตรงนี้ จะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง เด็กหลายคนกำลังใจอ่อน แต่ก็ถูกผู้ปกครองและกลุ่มผู้ปลุกระดม กระตุ้นเด็กไม่ให้ยินยอม เหมือนใช้เด็กเป็นตัวประกัน ผมไม่อยากให้ทำเช่นนั้น เพราะผมก็เห็นเขาเหมือนลูกหลาน ผมต้องยึดกติกาที่เราได้ตกลงร่วมกัน ผมจะต้องดูแลนักเรียนที่เหมือนลูกหลานทั่วประเทศให้มีที่เรียนเท่าเทียมกัน หากจะให้ยกเลิกกติกาที่ได้ทำไว้ ระบบการศึกษาของประเทศนี้ก็อยู่ไม่ได้”รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวและว่า วันที่ 21 พ.ค.เวลา 09.00 น. ได้เชิญสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั้ง 42 เขต และโรงเรียนที่มีปัญหาวิกฤติในการรับนักเรียนเข้าหารือทางออกในการแก้ไขปัญหา
ด้านศ.ดร.สุชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ยืนยันว่าการรับนักเรียนชั้นม.4ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้
ตนได้รับข้อมูลว่าการออกมาเรียกร้องของนักเรียนกลุ่มนี้น่าจะมีคนอยู่เบื้องหลัง โดยดูจากป้ายที่เขียนข้อความต่างๆเช่น ข้อความที่ต่อว่าผอ.โรงเรียนบดินทรเดชาฯ และน่าจะมีกระบวนการทางการเมืองมาหลอกใช้นักเรียน ตอนนี้รู้ตัวว่าเป็นใครแล้วจะให้นายอนันต์ ไปแจ้งความไว้ที่สน.ดุสิตเพื่อลงบันทึกประจำวันเหตุการณ์เอาไว้
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มประสานงานองค์กรเอกชนและเครือข่าย พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนาเรื่อง ลูกเปิดเทอมปีนี้ คนไทยจะพึ่งใคร?
โดยเชิญนักวิชาการด้านการศึกษาและผู้บริหารสถานธนานุบาลของรัฐมาแสดงความคิดเห็น โดยนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาครอบครัวผู้มีรายได้น้อยราว8,000-10,000 บาท ค่าอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนเป็นค่าใช้จ่ายหลัก ถัดมาคือค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลาน และปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีหนี้ 50,000-70,000 บาท ปัญหาเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะกำลังเป็นปัญหาใหญ่การฝากฝังโดยพึ่งอำนาจทางการเมือง กรณีโรงเรียนมีชื่อเสียงยังต้องใช้เงินจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ 5,000-3ล้านบาท เด็กหลายคนน่าเห็นใจที่ทำกิจกรรมเพื่อโรงเรียนแต่ไม่ได้เรียนต่อ กลายเป็นเด็กที่มีอุปการะคุณเข้าแทนที่ ทั้งที่เด็กเหล่านี้ผลการเรียนแค่ 1.75 % จึงกลายเป็นว่าการศึกษาไม่ให้ความเป็นธรรมกับเด็ก
"เท่าที่รับทราบจากผู้บริหารโรงเรียน พบว่ามีผู้ปกครองบางรายส่งกล่องบรรจุเพชรปลอมเต็มกล่องมาให้โดยบอกว่าถ้าลูกเข้าเรียนได้เขาจะทำเลียนแบบมาให้ ดังนั้นเปิดเทอมปีนี้ถือว่าสาหัสมาก และที่พึ่งของประชาชน คือโรงรับจำนำ " นายสมพงษ์ กล่าว และว่า
นอกจากนโยบายเรียนฟรีแล้วทางแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งคือแก้ไขหนี้ครัวเรือนเพื่อให้เงินที่ใช้จ่ายในครัวเรือนเพียงพอ
อย่าบอกว่ามีนโยบายเรียนฟรีแล้วไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะจ่ายเหมือนเดิม สุดท้ายทางออกของประชาชนคือกลับไปหาเงินกู้นอกระบบ นายชัชวาลย์ ศรีนนท์ ผอ.สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานธนานุบาลฯ ได้คงอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน และขยายระยะเวลารอบตั๋วออกไปเพื่อช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นกับประชาชนมากขึ้น สถิติการใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในลักษณะก้าวกระโดดตั้งแต่ปี2554 ตั้งแต่เดือนส.ค. จากช่วงเดียวกันของปี2553 ที่ 500 ล้านบาท เป็น 800 -900 ล้านบาท ยอดเฉลี่ย 800 ล้านบาทต่อเดือน
ขณะที่ นายกนก วงศ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รมว.ศึกษาธิการ เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า
พรรคได้รับร้องเรียนปัญหาการรับนักเรียนด้วยค่าใช้จ่ายพิเศษเข้ามามาก ปัญหาส่วนใหญ่มาจากนโยบายและผู้บริหารสถานศึกษาที่มีนโยบายไม่ชัดเจน เด็กนักเรียนกำลังได้รับบทเรียนว่าการศึกษาวันนี้คือการมีเงิน ผลการเรียนไม่เกี่ยว อนาคตกำลังถูกตัดสินได้ด้วยเงิน ปัญหาระยะยาวที่เกิดขึ้นคือเด็กได้รับการปลูกฝังว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญสุด ส่วนกรณีภาระของครัวเรือนที่มีผลจากค่าครองชีพที่แพงขึ้นและค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นเป็นภาระหนักที่ต้องทบทวนว่านโยบายเรียนฟรี ฟรีจริงหรือไม่