วานนี้ (4 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายภานุวัฒน์ เอื้อสุมาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 15 จ.ภูเก็ต
พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รวม 6 คน เข้าตรวจสอบพระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากภายในถ้ำเขานุ้ย บ้านนาพญา หมู่ 12 ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งนายสุริยันห์ ทองศักดิ์ อายุ 41 ปี ผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งประสานให้เข้าตรวจสอบอย่างเร่งด่วน หลังพบว่ามีชาวบ้านทั้งในและต่างพื้นที่อาศัยช่วงเวลากลางคืนเข้ามาลักลอบขุด เพื่อนำไปขายและเก็บไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวแล้วจำนวนมาก โดยถ้ำเขานุ้ยมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 5 เมตร เจ้าหน้าที่ได้ใช้หลักการขุดค้นทางโบราณคดีโดยค่อยๆใช้แปรงและเกรียงค้นหาด้วยความระมัดระวัง ระหว่างการทำงานเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะภายในถ้ำค่อนข้างคับแคบ ประกอบกับมีฝนตกลงมาเป็นระยะๆ ซึ่งเมื่อช่วงเช้าก่อนลงมือตรวจสอบฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทางเจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องจุดธูปไว้เจ้าที่เจ้าทาง ขอขมา เพื่อให้ได้เข้าไปทำงานได้สะดวกขึ้น และจากการตรวจสอบสภาพภายในถ้ำพบว่ามีร่องรอยการขุดเอาพระพิมพ์ไปเป็นจำนวนมาก โดยระดับความลึกของดินภายในถ้ำที่พบพระพิมพ์ดินดิบนั้น ถูกขุดลึดลงไปประมาณ 50-60 ซม.
นายภานุวัฒน์ กล่าวว่า พระพิมพ์ดินดิบที่ตรวจพบเป็นพระพิมพ์ดินดิบที่มีรูปแบบศิลปะศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-17 หรือประมาณ 1 พันปีที่ผ่านมา
ซึ่งเชื่อมโยงกับกับเครื่องมือ เครื่องใช้โบราณที่ขุดพบก่อนหน้านี้ที่ถ้ำคีรีวิหารและภูเขาสายในอำเภอห้วยยอด เชื่อว่าวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกัน ซึ่งแสดงถึงผู้คนที่อยู่อาศัยในยุคสมัยนั้นในบริเวณนี้ คนโบราณทำพระพิมพ์ดินดิบไว้โดยวางเรียงในถ้ำหรือที่สูงเพื่อเคารพบูชา โดยวันนี้สามารรถขุดและนำมาลงทะเบียนรอการตรวจวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวน 431 ชิ้น และในวันพรุ่งนี้(5พ.ค.)จะเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมอีกวัน เนื่องจากเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมาก
ด้านนายสุริยันห์ ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านที่มาหาน้ำผึ้ง พบพระพิมพ์ดินดิบภายในถ้ำตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา
และได้มีกลุ่มชาวบ้านเข้ามาลักขุดไปขายและเก็บไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนพระพิมพ์ดินดิบที่มีอยู่ในถ้ำเขานุ้ย ซึ่งน่าเสียดายมาก โดยคืนนี้จะมีการจัดเวรยามเฝ้าระวังไว้เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 15 จ.ภูเก็ตเข้าตรวจสอบอีกวัน ซึ่งคาดว่าจะมีพระพิมพ์อยู่อีกเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งพันชิ้นอย่างแน่นอน และเมื่อเจ้าหน้าที่ฯตรวจสอบเสร็จก็จะปิดถ้ำทันที หวั่นถูกทำลายเพิ่มเติม และจะมีการพูดคุยกับท้องถิ่นให้มีการดูแลรักษาต่อไป