วันนี้ ( 29 มี.ค.) นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร
เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ดำเนินงานบูรณะเจดีย์ประธานวัดสิงหารามด้านทิศตะวันออก ตามโครงการขุดแต่งออกแบบบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดสิงหาราม บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ปี 2555 ได้พบภาพจิตรกรรมประดับผนังคูหาปรากฏอยู่ภายในกรุเจดีย์ประธานด้านทิศตะวันออก โดยลักษณะของกรุเป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1.5 x 1.5 เมตร สภาพของพื้นภายในกรุได้ถูกขุดทำลายไปจนหมดไม่พบร่องรอยหลักฐานอื่น บริเวณผนังกรุทั้ง 4 ด้านปรากฏร่องรอยของภาพจิตรกรรม สันนิษฐานว่า แต่เดิมภายในกรุคงประดิษฐานพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว
นายภัทรพงษ์ กล่าวต่อว่า จิตรกรรมภายในกรุแต่ละด้านเป็นภาพเขียนสีรูปพุทธสาวกจำนวน 3 รูป อยู่ในท่าเดินพนมมือ
ลักษณะเดินเวียนขวาประทักษิณ เทคนิคในการเขียนสีจะใช้สีเหลืองเป็นสีพื้นผนังและใช้สีแดงตัดขอบเป็นโครงรูปทั้งหมด ในส่วนของสีพื้นของรูปนั้นมีการใช้สีแดงเป็นพื้นของจีวร และสีดำเป็นพื้นของเศียรพระ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบคติและเทคนิควิธีการสร้างนั้น จะเทียบได้กับภาพจิตรกรรมในสมัยอยุธยายุคต้น ที่พบในบริเวณกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เขียนเป็นภาพพุทธประวัติ และทศชาติชาดกนั้น พบว่ามีการใช้สีดำ สีแดง และสีเหลืองดินเป็นสีหลักในการเขียนที่เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างในส่วนของสีตัดขอบรูป กล่าวคือ ภาพเขียนสีในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนั้นจะใช้สีดำเป็นสีตัดขอบรูป ส่วนภาพจิตรกรรมในกรุเจดีย์ประธานวัดสิงหารามนี้มีการใช้สีแดงเป็นสีตัดโครงรูป ดังนั้น ภาพเขียนสีภายในกรุวัดเจดีย์ประธานวัดสิงหารามนี้ น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนกลาง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-22 หรือประมาณ 500 ปี