วันนี้ (28 มี.ค.) นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นม.) เปิดเผยว่า
จากสถิติปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตกว่าปีละ 1 แสน 3 หมื่นคน ในส่วนประเทศไทยพบมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 1,415 ราย ซึ่งมีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่ว่ายน้ำเป็น
ทั้งนี้ในปี 2554 ที่ผ่านมา จ.นครราชสีมา มีสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิต 150 คน นับเป็นลำดับที่ 10 ของประเทศ
เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตของเด็กจากทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตมีสถิติมากกว่าอุบัติเหตุจราจร 2 เท่า และสูงกว่าโรคไข้เลือดออกถึง 24 เท่า อำเภอที่พบเสียชีวิตมากสุดคือ อ.เมือง พิมาย ปักธงชัย และปากช่อง สถานที่ที่พบเสียชีวิตมากสุดคือ แหล่งน้ำใกล้บ้าน ในบ้าน คลองธรรมชาติ และบ่อที่ขุดเพื่อการเกษตร ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตบริเวณจุดเกิดเหตุ โดยเด็กกลุ่มอายุ 6-10 ปี เสียชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมคือเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือให้พ่อแม่ผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ได้ร่วมมือเฝ้าระวัง เร่งจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกัน เพื่อลดการเสียชีวิตในเด็กให้ลดลง โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมนี้ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ภายใต้แนวคิด "สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย สร้างความปลอดภัยทางน้ำ”
โดยเฉพาะควรนำเด็กอายุ 5-14 ปี ไปฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำของเด็ก โดยสอนเด็กให้ว่ายน้ำเป็นและรู้จักวิธีการเอาชีวิตรอด
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเน้นหลักสูตรสอนให้เด็กมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ เช่น รู้จักประเมินแหล่งน้ำเสี่ยงอันตราย รู้จักวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ เช่น การใส่เสื้อชูชีพตลอดเวลาที่เดินทาง มีทักษะในการเอาชีวิตรอดในน้ำ คือ เมื่อเวลาตกน้ำ สามารถเอาชีวิตรอดได้ด้วยการลอยตัวในน้ำให้นานที่สุดเพื่อรอคนมาช่วยเหลือ และมีทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำในเบื้องต้น เพื่อลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กในที่สุด.