อุโมงค์เก่า ต้นเหตุถนนกรุงยุบ

ที่แท้อุโมงค์ระบายน้ำเก่า ต้นเหตุถนนพระราม 4 ทรุดเป็นหลุมกว้าง เป็นอุโมงค์ช่วงหัวลำโพงถึงสถานีสูบน้ำวัดช่องลม ใช้งานมานานกว่า 40 ปี

จนเสื่อมสภาพแตกรั่วเป็นโพรง ส่งผลให้ทรายใต้ถนนไหลลงไปในท่อกว่า 50 คิว จนถนนรับน้ำหนักไม่ไหว ยุบเป็นหลุมลึก กทม.ชี้เหตุถนนทรุดเคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 22 สั่งสำรวจอุโมงค์ระบายน้ำเก่าทั่วกรุง หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย พร้อมเร่งซ่อมถนนทรุดจนแล้วเสร็จใช้งานตามปกติแล้ว

จากกรณีถนนพระราม 4 ช่วงใต้สะพานไทย-เบลเยียม เกิดทรุดตัวเป็นหลุมกว้าง 5 เมตร ลึก 1 เมตร

ในช่วงค่ำวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ต้องปิดการจราจรบริเวณดังกล่าว เพราะเกรงว่าหลุมที่ทรุดตัวอาจขยายเป็นวงกว้าง ก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุ และเร่งซ่อมแซมถนนให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 มี.ค. ที่สถานีรถไฟใต้ดินลุมพินี นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกทม.
 
พร้อมด้วยนายรณชิต แย้มสะอาด รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขน ส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายขัตติยะ เหราบัตย์ ผอ.ฝ่ายควบคุมการก่อสร้าง การประ ปานครหลวง (กปน.) นายวินัย ลิ่มสกุล ผอ. สำนักการโยธา กทม. นายอดิศักดิ์ ขันตี รองผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. นางภาวิณี อามาตย์ทัศน์ ผอ.เขตปทุมวัน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยมีนายสรศักดิ์ แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมรับฟังการประชุมด้วย

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายจุมพลแถลงผลการประชุมว่า
 
เหตุดังกล่าวเกิดจากทรายที่เป็นวัสดุใต้พื้นผิวถนนเกิดสูญหายไปกว่า 40-50 คิว จนเกิดเป็นร่องลึก ทำให้ถนนเกิดทรุดตัวลง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ทรายใต้ถนนหายไปนั้น จากการตรวจสอบระบบท่อส่งน้ำประปาและจุดก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ยังไม่พบข้อบกพร่องหรือความเสียหายของระบบแต่อย่างใด และคาดว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ถนนถูกใช้งานหนักมาเป็นเวลานาน กทม.จึงเร่งซ่อมแซมพื้นผิวถนนจนสามารถใช้การได้ตามปกติตั้งแต่เวลา 03.00 น.

อุโมงค์เก่า ต้นเหตุถนนกรุงยุบ

นายจุมพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถนนทรุดตัวลงคือ ระบบอุโมงค์ระบายน้ำของกทม.
 
เส้นทางจากหัวลำโพงมาถึงสถานีสูบน้ำวัดช่องลม ซึ่งเป็นระบบอุโมงค์ระบายน้ำแบบเก่าที่กทม.สร้างมาตั้งแต่ปี 2515 และอยู่ใกล้กับพื้นที่จุดเกิดเหตุมากที่สุด โดยอุโมงค์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือวงรีขนาด 3 คูณ 3.5 เมตร โดยอาจมีการเสื่อมสภาพหลังใช้งานมากว่า 40 ปี ทำให้เกิดช่องโหว่ส่งผลให้ทรายรั่วไหลเข้าไปได้ จึงสั่งการให้สำนักการระบายน้ำเร่งสำรวจความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพของระบบอุโมงค์ระบายน้ำว่ายังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามปกติหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1-2 สัปดาห์น่าจะมีข้อสรุป

นายจุมพลกล่าวอีกว่า อุโมงค์ระบายน้ำเก่าของกทม.มีทั้งหมด 3 อุโมงค์คือ อุโมงค์พระราม 4 อุโมงค์อังรีดูนังต์ และอุโมงค์เสนานิคม

จึงสั่งการให้สำนักการระบายน้ำเร่งศึกษาและว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อเตรียมซ่อมบำรุงอุโมงค์ระบายน้ำเก่าของกทม.ครั้งใหญ่ เนื่องจากผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน เบื้องต้นจากการตรวจสอบย้อนหลังยังพบว่าเคยเกิดเหตุลักษณะเดียวกันมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มใช้งานเมื่อปี 2515 โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2522 เกิดเป็นหลุมลึกบริเวณถนนหน้าโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งกทม.สั่งการให้สำนักงานเขตปทุมวันและสำนักงานเขตใกล้เคียงตรวจพื้นผิวจราจรตามจุดต่างๆ ว่าเกิดการทรุดตัวเพิ่มหรือไม่ แล้วรีบรายงานโดยเร็วที่สุด

ด้านนายรณชิตกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาข้อมูลจากทั้ง 3 หน่วยงาน

ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งโครงสร้างของ รฟม.ยืน ยันว่ามีความแข็งแรง เพราะอุโมงค์ของรถไฟฟ้าใต้ดินจะต้องทำเป็นระบบปิด ทำให้โครงสร้างมีขนาดของกำแพงหนากว่า 1 เมตร ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ รฟม.จะดูดน้ำจากภายนอกอุโมงค์ เพราะไม่มีประโยชน์หรือมีผลอะไร ขณะที่การก่อสร้างอุโมงค์จะถูกอัดแน่นโดยรอบ

ขณะที่นายขัตติยะกล่าวว่า จากการตรวจสอบไม่พบมีน้ำประปาสูญหายจากระบบท่อน้ำในเส้นทางใกล้จุดเกิดเหตุ
 
อีกทั้งตั้งแต่ กปน.วางระบบท่อประปาเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตรในพื้นที่ดังกล่าว ก็ไม่เคยมีปัญหาน้ำรั่วไหล ขณะเดียวกันในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุในลักษณะนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นคือ เหตุการณ์ท่อประปาระเบิดที่ย่านถนนพระราม 5 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2553

จากนั้นเวลา 11.30 น. ที่ศาลาว่าการกทม. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า

การเกิดถนนยุบตัวสามารถเกิดได้ เพราะการขยายตัวเมือง มีการก่อสร้างตึก และอาคารต่างๆ จึงต้องวางท่อประปาขนาดใหญ่ ซึ่งตามหลักวิศวกรรมแล้วการก่อสร้างอะไรใหม่ๆ จะทำให้เกิดการยุบตัวสูง ซึ่งพื้นที่ของกรุงเทพฯ ก็มีการก่อสร้างกันอยู่ตลอดเวลา โดยสำนักการโยธาจะเข้าไปสำรวจถนนที่ก่อสร้างมานาน ถนนที่อยู่ริมคลองและถนนที่มีรอยแตกร้าว ซึ่งหากพบจุดใดชำรุดจะให้ปรับปรุงซ่อมแซมทันที

วันเดียวกัน นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า
 
วสท.พร้อมเข้าไปตรวจสอบพื้นที่หากประสานเข้ามา ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นคาดว่าอาจเกิดจากการกัดเซาะของน้ำที่ไหลผ่านตามท่อในใต้ดิน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้ดินถูกพัดพาจนเป็นโพรงและทำให้ถนนยุบตัวลง สำหรับสัญญาณเตือนว่าพื้นที่ใดจะเกิดการยุบตัวของถนนให้สังเกตว่าผิวถนนมีรอยร้าวหรือไม่ โดยเฉพาะถนนริมคลองอาจเกิดการยุบตัวได้ง่ายกว่า ซึ่งหากพบความผิดปกติควรแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์