เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 1 มี.ค. ร.ต.ต.มนูญเกริก กลิ่นคูณนฤนาท รอง สวป.สน.ประชาชื่น
ได้รับแจ้งเหตุคานปูนรกร้างซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างชานชาลารถไฟบริษัทโฮปเวลพังถล่มลงมา ที่เกิดเหตุบริเวณเสาโทรเลขต้นที่ 12-6 ด้านริมถนนวิภาวดีขาออก เยื้องกับวัดเสมียนนารีไป 100 เมตร แขวงลาดยาว เขตจุตจักร กทม. จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นเร่งรุดไปตรวจสอบพร้อมประสานเจ้าหน้าที่สำนักบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร
เมื่อถึงที่เกิดเหตุพบโครงสร้างด้านบนวางพื้นแผ่นปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่กว้าง 10 เมตร ยาว 45 เมตร ซึ่งวางพาดกับเสาจำนวน 5 ต้น
และมีโครงสร้างค้ำยันเหล็กตั้งค้ำยันไว้ ได้พังถล่มลงกองกับพื้นด้านล่างเป็นรูปตัวยู โดยมีชิ้นของโครงเหล็กนั่งร้านพังลง และตัวโครงเหล็กล้ำปิดบนรางรถไฟฝั่งขาเข้ากรุงเทพ-หัวลำโพง ทำให้ขบวนรถไฟหลายขบวนไม่สามารถวิ่งผ่านได้ โดยเจ้าหน้าที่การรถไฟแก้ปัญหาในเบื้องต้นโดยทำการสับรางรถไฟคู่ขนานรางขาออกกรุงเทพ-ดอนเมือง แต่ก็ต้องใช้เวลานานนับชั่วโมง เนื่องจากแต่ละขบวนต้องรอการสับรางรถไฟและรอสัญณาณจากเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุไม่พบผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายยุทธนา ทรัพย์เจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ
ก่อนเปิดเผยว่า ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าน็อตใส่ยึดโครงเหล็กนั่งร้านค้ำยันด้านล่างหลุดหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจถูกคนมาถอดขโมยไปขาย หรืออาจมีการเคลื่อน ทำให้เหล็กค้ำยันพังถล่มลงมา
จากนี้ก็จะให้เจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถาน และเจ้าหน้าที่จากการรถไฟ สารวัตรบำรุงทางของการรถไฟ
เข้าทำการตรวจสอบเสาโฮปเวลทั้งหมด ว่ามีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด โดยพบว่าจุดที่ก่อสร้างเป็นชานชาลามีด้วยกัน 2 จุด จุดแรกคือที่เกิดเหตุที่พังถล่มลง และอีกจุดบริเวณใกล้สถานีขนส่งหมอชิต ซึ่งจุดดังกล่าวนั้นสร้างเสร็จแล้วไม่มีเหล็กค้ำยัน ส่วนที่เกิดเหตุนี้ยังไม่แล้วเสร็จจึงมีเหล็กค้ำยันอยู่
นอกจากนี้ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายโครงเหล็กที่พังถล่มล้ำเข้าไปบนรางรถไฟให้ใช้เครื่องเชื่อมตัดเหล็กค้ำยันออกโดยเร็วเพื่อให้ขบวนรถไฟแล่นผ่านได้ตามปกติ พร้อมกับให้ล้อมรั้วเป็นเขตห้ามเข้าเพื่อตรวจสอบต่อไป
นายยุทธนา กล่าวยืนยันด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง เพราะถือว่ายังอยู่ในแผนที่จะดำเนินการได้ แต่เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นจำเป็นต้องให้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.)เข้ามาตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างทั้ง 40 % ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีการตรวจสอบมาแล้ว และล่าสุด รมว.คมนาคมได้สั่งการให้รฟท.ไปแจ้งความเพื่อนำหลักฐานไปยื่นกับสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานครเพื่อขอนุญาตในการรื้อถอนด้วย
“จากการตรวจสอบโดยนายธเนศ วีระศิร เลขาธิการ วสท. ระบุว่าจุดที่คานถล่มลงมานั้น พบว่าการก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ มีการเทปูนจุดยึดเฉพาะด้านล่าง ส่วนด้านบนไม่มีการเทปูนเชื่อม แต่ใช้นั่งร้านเป็นตัวยึดเกาะเท่านั้น เวลาผ่านมาแล้ว 14 ปี ในส่วนของนั่งร้านมีการขยับเคลื่อนที่จาดจุดเดิม ทำให้เกิดถล่มลงมา จุดที่เกิดเหตุนั้น เป็นพื้นที่ก่อสร้างส่วนของสถานี ไม่ได้อยู่ในส่วนของการวางโครงสร้างหลักของรถไฟฟ้า ”นายยุทธนากล่าว