แก้ปัญหา "ไฟป่า-หมอกควัน" ยังขาดการทำงานแบบบูรณาการ
ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการแก้ปัญหาไฟป่ามาตั้งแต่ปี 2552 มีคณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติที่มีตัวแทนนราชการต่าง ๆ ร่วมมือกันทำงานแก้ไขปัญหา แต่หน่วยงานปฏิบัติที่รับผิดชอบ ระบุว่า ที่ปัญหายังคงรุนแรงทุกปีเป็นเพราะ ยังขาดความร่วมมือจากเกษตรกรซึ่งต้องเร่งสร้างความเข้าใจ
ข้อมูลจากสำนักป้องกันปราบปราม และ ควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานว่า สถานการณ์ไฟป่าในเขตป่าอนุรักษ์ไม่ได้รุนแรงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบเหตุไฟป่า หรือ จุดฮอตสปอตในป่าอนุรักษ์เพียงร้อยละ 20 แต่จุดไฟไหม้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม เพราะเกษตรกรยังนิยมใช้วิธีเผาไร่นาลดต้นทุนเตรียมเพาะปลูก
สำนักป้องกันปราบปราม และ ควบคุมไฟป่า ยังถือเป็นหน่วยงานเดียวที่มีหน้าที่ป้องกันและควบคุมไฟป่าโดยตรง เฉพาะเขตป่าอนุรักษ์ 73 ล้านไร่มีเจ้าหน้าที่ 5,000 นาย แต่ในเขตพื้นที่เกษตรกรรมไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ
ปี 2552 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่ตั้งคณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษและอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นเลขานุการร่วม และ มีปลัดกระทรวง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการทำให้ถ่ายโอนภาระกิจบางส่วนให้กับท้องถิ่น
ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าจะรับผิดชอบสั่งการและประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมามีการฝึกอบรมการควบคุมไฟป่าให้กับหลายพื้นที่แล้ว แต่ยังคงขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ ที่สำคัญยังขาดการประชาสัมพันธ์ คำแนะนำและสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าให้แก่เกษตรกร