ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 55 ดร.วรกร คำสิงห์นอก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กล่าวในการประธานเปิดสัมมนาวิชาการเรื่อง 'แท็บแล็ต 9 แสนเครื่อง เป็นเครื่องมือปฏิรูปการศึกษาได้จริงหรือ' ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโดยชมรมผู้สื่อข่าวสายการศึกษา ร่วมกับสำนักพิมพ์แม็ค ใจความตอนหนึ่งว่า การแจกแท็บเล็ต 9 แสนเครื่องเป็นนโยบายของรัฐบาล ต้องการยกระดับการเรียนรู้ของเด็กไทยเพิ่มเติมจากตำราเรียน เตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2558
ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต นายกสมาคมครูเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการศึกษาของไทยชัดเจน ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดูแลเนื้อหา การจัดซื้อ งบประมาณ การซื้อแท็บเล็ต เตรียมความพร้อมให้ครู สร้างเครือข่ายแท็บเล็ต ใช้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญมาอบรม หากซื้อถึง 9 แสนเครื่อง รัฐอาจจะร่วมทุนกับต่างประเทศผลิตเอง
รศ.พญ.นิตยา คชภักดี กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า เด็กวัย 6-8 ขวบ ต้องเรียนรู้จากของจริง
หากสัมผัสจอแท็บเล็ตตลอดเวลา เด็กจะสายตาสั้น สมองผิดปกติ คอเอียง เพราะนั่งนานติดต่อกันหลายชั่วโมง จะมีปัญหาการสื่อสารกับพ่อแม่ มีแนวโน้มจะเป็นโรคอ้วน-เตี้ย เด็กจะเสี่ยง เช่น โหลดภาพลามก เกมโหดได้ แนะนำว่าอายุ 3-4 ขวบ ควรเล่นไม่เกิน 1 ชั่วโมง จากนั้นให้ไปทำอย่างอื่น เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ
นายวีรชน ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัท โคกิริ เล่าว่า เกาหลีได้นำแท็บเล็ตมาทดลองวิจัยใช้ในระดับอุดมศึกษาผ่านอีบุ๊ก ผลวิจัยปรากฏว่า นักศึกษาสนใจเล่นเกมเป็นอันดับหนึ่ง จึงไม่นำแท็บเล็ตมาใช้ในการศึกษา
อาจารย์วราภรณ์ ภาตั้งใจจริง รอง ผอ.ราชวินิตประถม กล่าวว่า ได้รับแจกแท็บเล็ตทั้งหมด 100 เครื่อง
ทดลองใช้กับนักเรียนชั้นป.1 จำนวน 40 เครื่อง ป.4 จำนวน 40 เครื่อง ส่วน 20 เครื่องเก็บไว้กองกลาง ใน 1 วัน สอน 1 ชั่วโมง โดยสอน ภาษาไทย อังกฤษ สังคม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และมีอาจารย์ มศว. ทำวิจัย หมอวัดสายตา โครงการจะเสร็จสิ้นมีนาคม 2555 จากที่คลุกคลีเด็กพบว่า เนื้อหาที่โหลด 300 กว่าเรื่อง ไม่เหมาะกับพัฒนาการเด็ก น่าจะเหมาะกับ ม.ปลาย ที่ออกมาเปิดเผยต้องการให้สังคมรับรู้ข้อมูลความเป็นจริงครั้งนี้