อย.เตือนขาย “ปลาปักเป้า” ต้องมีมาตรการรองรับ

อย.เตือนขาย “ปลาปักเป้า” ต้องมีมาตรการรองรับ

 เมื่อวันที่ 19ก.พ. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข
 
เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากฎหมายให้สามารถจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้าได้ โดยระบุว่าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เนื่องจากมีปลาปักเป้าติดอวนชาวประมงวันละ 100-150 ตันว่า  ที่ผ่านมา อย.ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพิจาณาทบทวนการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 264 พ.ศ.2545 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต  นำเข้าและจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2545 พบว่า มีปลาปักเป้าที่สามารถบริโภคได้และปลอดภัย 1 ชนิด ชื่อ ลาโกซีฟาลัส สแปดิเชียส( Lagocephalus spadiceus )
        
“อย.ไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุน หากต้องการส่งเสริมปลาปักเป้าในเชิงพาณิชย์ต้องพิจารณาให้รอบคอบ มีมาตรการรองรับที่เหมาะสม ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะแม้แต่ญี่ปุ่นที่นิยมรับประทานเนื้อปลาปักเป้า มีการอบรมผู้แร่ แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตทุกปี ส่วนการผลิตยาต้านพิษ หรือ แอนตี้ท็อกซิน สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากปลาปักเป้า ที่ทางสถานเสาวภารับไปดำเนินการขณะนี้ก็ยังไม่เสร็จ คาดว่าจะใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 10ปี”นพ.พิพัฒน์ กล่าวและว่า  ปลาปักเป้าที่ชาวประมงจับได้มีหลายชนิดจะต้องคัดแยกเอาปลาที่ปลอดภัยมาแร่ ส่วนผู้แร่ต้องได้รับการอบรม มีการขึ้นทะเบียนโรงงานที่แร่  มีระบบตรวจสอบเนื้อปลา เพราะเมื่อแร่แล้วจะดูไม่ออกว่าเป็นชนิดที่มีพิษหรือไม่มีพิษ ที่สำคัญเมื่อเนื้อปลาออกไปสู่ท้องตลาดแล้วเกิดปัญหากับผู้บริโภค จะต้องมีกองทุนชดเชย
        
ด้าน ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.สำนักอาหาร กล่าวว่า ในตอนนี้ขอย้ำว่า อย.ยังไม่อนุญาตให้จำหน่ายเนื้อปลาปักเป้า

 
ดังนั้นหากลักลอบแร่หรือจำหน่ายถือว่าผิดกฎหมาย โดยทางเลขาธิการ อย.ได้สั่งการให้ลงไปดูสถานการณ์ ว่ายังมีการแร่ปลาปักอยู่หรือไม่และแร่สายพันธุ์ใด อย่างไรก็ตามหากจะมีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะต้องพิจารณาร่วมกันหลายกระทรวง
        
“ในประเทศญี่ปุ่นจะมีการรับรองสายพันธุ์ที่กินได้ คนแร่จะต้องเรียนประมาณ 3 ปีถึงจะมีสิทธิสอบ คนญี่ปุ่นรับประทานเนื้อปลาปักเป้ามานานเป็นพันปี แต่ก่อนมีผู้เสียชีวิตปีละ 50 คน แต่ปัจจุบันเหลือปีละประมาณ 2-3 คน หากประเทศไทยจะพิจารณาเรื่องนี้ต้องทำด้วยความรอบคอบ ปัญหาในตอนนี้คือ การบังคับการคัดแยกปลาปักเป้า ทั้งบนเรือ สะพานปลา แพปลา และโรงคัดแยกยังไม่สามารถบังคับผู้ประกอบการแยกปลาปักเป้าที่ปลอดภัยได้ แต่ประเทศญี่ปุ่นจะมีสัตวแพทย์เป็นผู้ควบคุมการคัดแยก ของประเทศไทยก็คงเป็นกรมประมง  ” ดร.ทิพย์วรรณ กล่าว
 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์