วันนี้ (30 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า แนวกำแพงวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือติดกับ โบราณสถานวัดมหาธาตุ
มีขนาดกว้าง 1.50 เมตร สูง 1.80 เมตร เป็นกำแพงที่กรมศิลปากรก่ออิฐขนาดดินเผาก่อสร้างทับแนวกำแพงเดิมไว้ พังทลายลงมาเป็นความยาว 10 เมตร ทำให้เนื้ออิฐด้านในกำแพงพังทลายตามลงมาด้วย นอกจากนี้พบว่ามีตัวกำแพงลักษณะเดียวกัน ล่อแหลมต่อการพังทลาย จากดินที่ยุบตัวทำให้ฐานกำแพงเป็นช่องโหว่ใกล้พังทลายลงมาตลอดแนวรอบโบราณสถานหลายแห่งหลายจุด ขณะเดียวกันภายในโบราณสถานหลายแห่งในเกาะเมืองมีสภาพไม่แตกต่างกัน พบว่าโครงสร้างของโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วม ดินทรุดตัว ประกอบกับความชื้นของตัวโบราณสถานจากน้ำท่วม ทำให้โครงสร้างไม่มั่นคง กรมศิลปกรต้องนำเชือกมาขึงกั้นเขียนป้ายกำกับ ทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ เตือนระวังไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้บริเวณดังกล่าวเกรงจะทำอันตรายต่อตัวโบราณสถานและตัวนักท่องเที่ยวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนต.ค. 2554 พื้นที่อุทยานประวัติศาตร์พระนครศรีอยุธยา
ภายในเกาะเมืองถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน อาจจะทำให้พื้นดินที่ก่อกำแพงเกิดทรุดตัวไม่สามารถรับน้ำหนักตัวกำแพงขนาดใหญ่ไว้ได้จึงพังทลายลงมา ประกอบกับเมื่อช่วงน้ำท่วมมีการใช้เรือยนต์ เรือหางยาว ขับขี่ผ่านจุดที่แนวกำแพงพังทลาย โดยทางกรมศิลปากรใช้แพไม้ไผ่มาผูกติดกันเพื่อทำแนวป้องกันคลื่น และที่สำคัญยิ่งกว่าการพังทลายของโบราณสถาน ในวันที่ 10-19 ก.พ.นี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเตรียมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้จัดการแสดง แสง สี เสียง อยุธยามรดกโลกด้วย ยิ่งจะเป็นการเสี่ยงต่อการเสียหายต่อโบราณสถานเป็นอย่างยิ่ง เพราะในการแสดง แสง สี เสียง แต่ละครั้ง ต้องขนย้ายอุปกรณ์ นักแสดงปีนป่ายตามโบราณสถานด้วย
นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แนวกำแพงวัดมหาธาตุ
ด้านที่ติดกับถนนนเรศวร เท่าทีตรวจสอบมีสภาพทรุดตัวประกอบกับแนวกำแพงบริเวณนี้เคยบูรณะครั้งใหญ่ผ่านมาแล้ว 30 กว่าปี ซึ่งการบูรณะครั้งนั้นใช้วัสดุจำพวกอิฐ ปูนซีเมนต์ฉีดเข้าไป พอมาถูกน้ำท่วมอยู่นานทำให้บริเวณวัดมหาธาตุและจุดต่างๆที่บูรณะในครั้งนั้นเกิดสภาพเสื่อมโทรม ทางอุทยานประวัติศาสตร์ได้ตั้งงบประมาณในการบูรณะไปแล้ว โดยจะเร่งบูรณะตามจุดต่างๆ เช่นจุดที่นักท่องเที่ยวเข้าไปชม และจุดที่เป็นอันตราย จะบูรณะก่อน ภาพรวมทั้งหมดในการบูรณะจะใช้เวลาประมาณ1 ปี จึงจะเสร็จ โดยจะนำวิทยาการใหม่ๆเข้าไปบูรณะ และในช่วงงาน ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลกที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 10-19 ก.พ.นี้ จะไม่อนุญาตให้จุดพลุโดยเด็ดขาด
ด้าน นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ล่าสุดขณะนี้ทราบเรื่องแนวกำแพงโบราณสถานวัดมหาธาตุทรุดตัวและพังลงแล้ว
และขณะนี้สั่งการไปยังสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความเสียหาย และทำสัญลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าเป็นจุดอันตราย เพื่อไม่ให้มีใครเข้าไปใกล้ ทั้งนี้ยอมรับว่าจุดที่เกิดการทรุดและแตกร้าวลงนั้นเกิดจากปัญหาน้ำท่วมจริง
ส่วนกรณีที่จังหวัดพะนครศรีอยุธยา จะจัดงานยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก และงานกาชาดประจำปี 2555
โดยใช้พื้นที่บริเวณหลังวัดมหาธาตุ แสดงแสง สี เสียง สื่อผสม ซึ่งหลายคนเกรงว่า อาจจะทำให้ตัวโบราณสถานวัดมหาธาตุเสียหายหนักมากไปกว่านี้ ล่าสุด ตนได้แจ้งไปยังกลุ่มนักแสดง และกลุ่มผู้จัดงานแล้ว ว่า การแสดง แสง สี เสียง ในปีนี้ จะไม่มีฉากการสู้รบ และการจุดพลุ แล้ว เนื่องจากจะทำให้ตัวโบราณสถานได้รับความเสียหายมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนการแสดงเป็น แสง สี เท่านั้น ส่วนเนื้อหาของเรื่องจะเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยา กับนาๆประเทศ เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรองรับกับการจัดงานมหกรรมเวิลด์ เอ๊กโปร์ 2020 ซึ่งไทยเสนอจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้าชิงพื้นที่การจัดงานด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ตั้งของสถานที่จัดทำพลุ จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเข้มงวดในการตรวจสอบเรื่องการรักษาความปลอดภัย และการตรวจสอบสถานที่เก็บพลุ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยกับบางจังหวัดก่อนหน้านี้