แนะรัฐวางแผนบริหารจัดการน้ำสู้อุทกภัย

แนะรัฐวางแผนบริหารจัดการน้ำสู้อุทกภัย

วันนี้(13 ม.ค.)ในการสัมมนาเรื่อง "น้ำจะท่วมเหมือนปี54 อีกไหม?"

ในหัวข้อ "การวิเคราะห์สาเหตุและประเมินความรุนแรงจนเกิดความเสียหายของอุทกภัยปี 54" โดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา นายสุทัศน์ ปัทมศิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่หลายฝ่ายมีข้อสงสัยว่าน้ำท่วมใหญ่ในปี54 มีสาเหตุส่วนหนึ่งเพราะเมื่อช่วงต้นปีเขื่อนเก็บกักน้ำไว้มากเกินไป ซึ่งที่จริงเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ในปริมาณปกติ  แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนต่างๆ ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์พบว่ามีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากอิทธิพลของพายุต่างๆ ทั้งนกเตน ไห่ถาง เนสาด นาลแก และร่องมรสุม นอกจากนี้การจัดการน้ำของเขื่อนก็สามารถช่วยเรื่องน้ำท่วมได้แค่ส่วนน้อย เพราะยังมีน้ำจากส่วนต่างๆ เข้ามาสมทบ อาทิ น้ำจากลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งหากปริมาณน้ำสูงเกิน 3500 ลบ.ม./วินาที บางพื้นที่จะยังเสี่ยงกับน้ำท่วมอยู่

ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ทางแก้ปัญหาคือ รัฐต้องมีแผนจัดการปริมาณน้ำที่สูงได้
 
เช่น มีทางระบายน้ำพิเศษ และควรจะมีการพยากรณ์ล่วงหน้าที่ไกลมากกว่า 7 วัน จะได้วางแผนจัดการน้ำถูก เพราะในปัจจุบันเขื่อนต้องเก็บกักน้ำไว้เนื่องจากห่วงว่าจะไม่มีน้ำทำการเกษตร รวมทั้งต้องมีการทำเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำใหม่ ที่ต้องระวังน้ำล้นเขื่อนมากขึ้น หรือตั้งเกณฑ์ในการจัดการน้ำว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใด เช่น เพื่อป้องกันน้ำท่วมเป็นหลัก

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า

มหาอุทกภัยปี 54 เกิดจากทั้งสาเหตุจากธรรมชาติ เช่น ปริมาณฝนตกมากอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ สภาพภูมิประเทศของภาคกลางส่วนใหญ่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม และสภาพลำน้ำตอนบนของพื้นที่ลุ่มน้ำมีความกว้างมากกว่าลำน้ำตอนล่างทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ตอนล่างเป็นเวลานาน รวมทั้งสาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ที่ใช้ประโยชน์จากที่ดิน แปรสภาพพื้นที่ป่าไม้เป็นชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำท่วมตามธรรมชาติหรือแก้มลิงเพียงพอ แหล่งกักเก็บน้ำขาดศักยภาพในการรับน้ำที่สูงกว่าปกติ และไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่เพียงพอ ทั้งประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ อาคารบังคับน้ำ และการสร้างระบบป้องกันตนเองของชุมชน เมือง ทำให้น้ำระบายช้าและท่วมขัง

นายทองเปลว กล่าวอีกว่า การป้องกันปัญหาในปี 2555 คือควรนำประสบการณ์จากปี 2554 มาปรับวิธีในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการพัฒนาศักยภาพของเครื่องมือ แผนการบริหารจัดการน้ำและระบบการเตือนภัย และควรมีการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์