ปัญหาก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ที่ปะทุตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออก สหภาพพม่า
กรณีผู้ผลิตก๊าซแหล่งเยตากุนปิดซ่อมบำรุงประจำปีระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 54-6 ม.ค. 55 ในช่วงเวลานั้น บมจ.ปตท. ได้นำก๊าซจากฝั่งตะวันตกหรืออ่าวไทยเข้ามาทดแทนให้บริการรถขนาดเล็ก และรถบรรทุกบางส่วน แต่ปัญหายังเกิดขึ้นจนทำให้ถนนบางเส้นทางต้องเป็นอัมพาต
ทั้งนี้ “เติมชัย บุนนาค” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันว่าก๊าซเอ็นจีวีไม่ได้ขาดแคลน แต่การที่แหล่งเยตากุนได้ปิดซ่อมบำรุงประจำปี จึงทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติได้ลดน้อยลง และปตท.ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยนำก๊าซจากอ่าวไทยเข้ามาทดแทน
แต่ยอมรับว่าในส่วนของรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ใช้เอ็นจีวีได้
รับผลกระทบในส่วนหนึ่ง เนื่องจากค่าความร้อนของก๊าซที่มาจากฝั่งอ่าวไทยสูงกว่าที่มาจากแหล่งเยตากุน จึงทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถรับได้แม้บางคันอาจรับได้แต่เครื่องยนต์เกิดอาการกระตุกหรือดับ ดังนั้นเบื้องต้นจึงพยายามปรับค่าความ ร้อนให้ลดลง รวมทั้ง จัดตั้งจุดเฉพาะกิจ เพื่อให้คำปรึกษา หากผู้ใช้บริการรายใดต้องการปรับจูนเครื่องยนต์ทางปตท. จะให้บริการ พร้อมแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้ตลอด 24 ชม. จึงทำให้ปัญหาลดลงไปได้ ในระดับหนึ่ง โดยยืน ยันว่าภายในวันที่ 10 ม.ค.นี้ สถานการณ์ทุกอย่างจะกลับคืนสู่ภาวะปกติแน่นอน
นอกจากนี้เพื่อให้การบริการเอ็นจีวีครอบคลุม และลูกค้าเติมก๊าซได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ปีนี้ได้ของบประมาณลงทุนจากฝ่ายบริหารประมาณ 1,000 ล้านบาท
เพื่อเพิ่มสถานีลูกจาก 466 เป็นกว่า 500 แห่ง และขยายกำลังการผลิตของสถานีแม่ ให้มีกำลังการจ่ายก๊าซเพิ่มอีกวันละ 900 ตัน ภายในปลายปี 55 ขยายกำลังการผลิตของสถานีหลักอีก 4 แห่ง ทำให้การจ่ายก๊าซรวมในปี 55 เพิ่มเป็นวันละ 1,425 ตัน และในอนาคตเมื่อวางท่อส่งก๊าซเส้นที่ 4 ท่อนครสวรรค์ และท่อนครราชสีมาแล้วเสร็จ ปี 57-58 ก็จะสามารถเพิ่มสถานีบริการตามแนวท่อได้อีกตรงนี้ทำให้สามารถให้บริการเอ็นจีวีได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการต้องสอดคล้องกับราคาของผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะที่ผ่านมา ปตท. จำหน่ายเอ็นจีวีที่ กก.ละ 8.50 บาท
แต่ในความเป็นจริงแล้วต้นทุนอยู่ที่ กก.ละ 15-16 บาท ส่วนต่างที่เหลือได้รับการชดเชยจากภาครัฐ 2 บาท ปตท. ต้องแบกรับภาระขาดทุนเฉลี่ยประมาณ กก.ละ 5 บาท ต่อเนื่องมา 10 กว่าปี ทำให้ขาดทุนสะสมเกือบ 40,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ ปตท. ไม่สามารถขยายการให้บริการของเอ็นจีวีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับปริมาณรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวี เป็นเชื้อเพลิง ณ ปัจจุบันนี้มียอดรวมประมาณ 300,000 คัน แบ่งเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ 50,000 คัน รถยนต์นั่งขนาดเล็ก 250,000 คัน และปี 54 มียอดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 300 คัน
ผช.เติมชัย เล่าให้ฟังอีกว่า แม้ภาครัฐได้อนุมัติให้ทยอยปรับราคาขายเอ็นจีวีขึ้นครั้งละ 50 สต.ต่อกก. ตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.นี้เป็นต้นไป จนถึง กก.ละ 6 บาท จะทำให้ราคาเอ็นจีวีขึ้นไปอยู่ที่ 14.50 บาท ปตท. ยังคงรับภาระขาดทุนอยู่ดี แต่ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพราะทำให้ขาดทุนน้อยลงและทำให้ ปตท. สามารถขยับขยายการบริการได้ในอีกระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ หากบรรดาผู้ประกอบการขนส่งทั้งรถบรรทุก รถแท็กซี่
รวมทั้งบรรดาองค์กรเอกชนอื่นคัดค้าน หรือต้องการขอทราบรายละเอียดของโครง สร้างราคาการปรับราคาเอ็นจีวีขึ้นนั้น ปตท. ก็พร้อมชี้แจงในทุกเวที นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงานโดยร่วมกับธนาคารกรุงไทยทำบัตรเครดิตพลังงานให้แก่รถสาธารณะประมาณ 65,000 คัน วงเงิน 9,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นส่วนลดราคาเอ็นจีวีตั้งแต่ กก.ละ 50 สต. ถึง 2 บาท ตามช่วงเวลาที่ปรับราคาขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนนี้ ปตท. คาดว่าต้องใช้เงินชดเชยส่วนลดให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ปีแรกประมาณ 1,600 ล้านบาท ปีที่ 2 ประมาณ 1,900 ล้านบาท และปีที่ 3 ประมาณ 2,000 ล้านบาท
ท้ายที่สุดแล้ว ปตท. ได้พยายามทำหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างดี แม้ว่าการขึ้นราคาจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือลดทอนกำไรลง และยังไม่เป็นที่ต้องการของใคร แต่ในแง่ของธุรกิจ รายรับ กับรายจ่าย ต้องสอดคล้องกัน เพราะการค้าการขายต้องมีกำไร หรืออย่างแย่ที่สุดก็คือเสมอตัว.