มหาอุทกภัย ซัดไทยย่อยยับเตือน ลานิญา กระหน่ำซ้ำต้นปี

"มหาอุทกภัย” ครั้งใหญ่ ที่ถาโถมเข้าถล่มในหลายจังหวัดของประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือยันภาคกลาง ทำให้เกิดความเสียหายชนิดประเมินค่าไม่ได้

บ้านเรือน ผู้ประสบภัย ที่ดินทำการเกษตร และอีกหลายชีวิตที่ต้องสังเวยไปกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นรุนแรงเท่านี้มาก่อน

ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าในวันที่ 22 ธ.ค.2554 ยังมี 6 จังหวัดที่ยังถูกน้ำท่วม คือ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มีประชาชนเดือดร้อนทั้งสิ้น 4 ล้านคน เสียชีวิต 744 ราย

ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่ประสบภัยอีกกว่า 20 จังหวัด อาทิ นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท และอื่น ๆ ขณะนี้เริ่มฟื้นฟูพื้นที่ของตนเองแล้ว

โดย คาดว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้หลายแสนล้านบาท

ย้อนกลับไปยังคำถามที่หลายคนยังค้างคาใจว่าภัยพิบัติครั้งนี้ เกิดขึ้นจากธรรมชาติหรือความประมาทในการบริหารจัดการน้ำกันแน่

เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค.2554 ลางร้ายแห่งภัยพิบัติครั้งใหญ่เริ่มโหมโรง เมื่อพายุโซนร้อน “ไหหม่า” โหมกระหน่ำประเทศไทย ทำให้พื้นที่ทางภาคเหนือและอีสาน ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนจำนวนมหาศาล หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังในพริบตา

หลังจากนั้น ยังมีพายุลูกอื่นตามมาอีก 5 ลูก คือ พายุโซนร้อน “นกเต็น” ในช่วงเดือน มิ.ย. พายุ “หมุ่ยฟ้า” ในช่วง ส.ค. พายุโซนร้อน “ไหถ่าง” ช่วงเดือน ก.ย. พายุไต้ฝุ่น “เนสาด” ในปลายเดือนเดียวกัน และพายุโซนร้อน “นาลแก” ในเดือนถัดมา คือ ต.ค.

เพียง 5 เดือน ประเทศไทยโดนพายุกระหน่ำซ้ำถึง 6 ลูกซ้อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว สอดคล้องพอเหมาะกับช่วงการทำนาปรังของชาวนา ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน ต้องกักเก็บน้ำในเขื่อนใหญ่ทั้งหลาย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งเหมือนอย่างปีก่อน ๆ ที่เคยประสบมา

เมื่อพายุลูกใหญ่ทั้ง 6 ลูก ก่อให้เกิดฝนตกในปริมาณมหาศาล ขณะที่การระบายน้ำ ไม่สอดคล้องกับการระบายน้ำที่กักเก็บในเขื่อน เนื่องจากประเมินสถานการณ์ผิดพลาด สุดท้ายจึงหนีไม่พ้นอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น


มหาอุทกภัย ซัดไทยย่อยยับเตือน ลานิญา กระหน่ำซ้ำต้นปี

เปรียบเสมือนน้ำที่กำลังเอ่อล้นตุ่มใหญ่หลายสิบตุ่มที่รองน้ำฝนเก็บไว้ภายในบ้าน เมื่อไม่มีการระบายน้ำออกจากตุ่มเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดภาวะน้ำปริ่มจนไม่สามารถบริหารจัดการน้ำใด ๆ ได้อีกต่อไป

หากปล่อยน้ำลงมา คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ หรือหากกักเก็บน้ำไว้ อาจทำให้เขื่อนแตกร้าวถึงขั้นพังทลาย และอาจเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่หลวงของประเทศ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องปล่อยน้ำลงจากเขื่อนใหญ่ จึงทำให้หลายพื้นที่ซึ่งมีแม่น้ำสายหลักพาดผ่าน ทั้ง ปิง วัง ยม น่าน รวมตัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ต้องรับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมขังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น คือ การปล่อยปละละเลยในการขุดลอกคู คลอง แม่น้ำหลายแห่งที่ตื้นเขิน เพราะความชะล่าใจ ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงส่งผลให้ในหลายจังหวัดที่ไม่เคยประสบน้ำท่วมครั้งใหญ่มาก่อน ต้องรับผลกรรมไปตาม ๆ กัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่เศรษฐกิจที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ที่ขณะนี้ มีนักลงทุนปิดโรงงาน หอบเสื้อผ้าหนีย้ายฐานผลิตไปแล้วหลายแห่ง

ดังนั้น ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสภาวะน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ไม่สามารถประเมินค่าได้

เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่ต่างรอคอยฟังแผนรับมือภัยน้ำท่วมจากรัฐบาล รวมถึงแผนฟื้นฟูต่าง ๆ ที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

เพียงแค่น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ได้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนเหล่านี้ลดลงเป็นศูนย์ แต่เเล้วพ้นเหตุการณ์เพียงแค่เสี้ยวอึดใจ น้ำปริมาณมหาศาลยังไหลบ่าทะลักเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางบริหารราชการของประเทศไทย

“ดอนเมือง” ท่าอากาศยานสำคัญของประเทศไทย ซึ่งยึดที่สูงเป็นทำเลที่ตั้ง และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือ ศปภ.
ได้ยึดเป็นฐานปฏิบัติการรับมือภัยน้ำยัง “เอาไม่อยู่” ถูกปริมาณน้ำมหาศาลเล่นงานจนต้องเก็บข้าวของหนี ย้ายศูนย์ปฏิบัติการกันอย่างอลหม่าน 

วิภาวดีฯ สายไหม ลาดพร้าว พหลโยธิน พื้นที่สำคัญที่เชื่อมต่อในเมืองและชานเมืองต้องรับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมอย่างป้องกันไม่ได้

ส่วนพื้นที่ย่านฝั่งธนฯ อย่างเช่น ทวีวัฒนา บางแค ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

ล่าสุด นายเสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ “ลานินญา” ส่งผลให้ภาคใต้อาจเกิดปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากมีพายุรุนแรงเกิดขึ้นหลายลูก ทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนมาก ขณะที่สามารถคำนวณเส้นทางพายุได้เพียง 7 วันล่วงหน้าเท่านั้น

ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมอีกหรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง จึงจะสามารถคำนวณได้แม่นยำ แต่ปกติแล้วปัญหาน้ำท่วมภาคกลาง ไม่ได้เกิดจากผลกระทบของลานินญาโดยตรง

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคน ต้องตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม เตรียมรับมือภัยธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นทุกเมื่อ และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี หากยึดตามหลักธรรม คงเรียกได้ว่าเป็นผลแห่งกรรมที่มนุษย์ได้ย่ำยีธรรมชาติไม่เว้นวัน

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการรับมือภัยธรรม ชาติจากรัฐบาล จะต้องมีอย่างเป็นรูปธรรม ทุกหน่วยงานต้องมีหน้าที่ปฏิบัติ และเตรียมแผนรับมือพร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ หากเกิดเหตุพื้นที่ไหน จะป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเช่นไร การป้องกันนิคมอุตสาหกรรม แหล่งเศรษฐกิจสำคัญ จะมีวิธีการอย่างไร

เหล่านี้ คือสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากรัฐบาล เหล่าผู้แทนอันทรงเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นให้เข้ามาบริหารประเทศ

เริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ อย่างเช่นการเตรียมพร้อมสายด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ต้องทำให้โทรฯ ติดง่าย ๆ แจ้งข้อมูลแล้วได้รับการตอบสนองจริง ไม่ใช่โยนความรับผิดชอบ ให้ผู้ประสบภัยโทรฯ ไปร้องเรียนเบอร์อื่น...น่าจะดี.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์