วันที่ 19 ธ.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า พระครูอรุณธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
ในฐานะประธานฝ่ายภูมิทัศน์และพิธีการ เปิดเผยว่า ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ วัดอรุณฯ ได้จัดการป้องกันอย่างเต็มที่ จนทำให้วัดรอดจากน้ำท่วม แต่ขณะนี้วัดยังคงสูบน้ำออกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด 2 วันที่ผ่านมา พบการทรุดตัวของพื้นลานหน้าพระปรางค์วัดอรุณ ความยาวประมาณ 2 เมตร มีความลึกประมาณ 1 ฟุต ห่างจากองค์พระปรางค์ไม่เกิน 10 เมตร แนวดังกล่าวอยู่บริเวณกำแพงริมแม่น้ำเดิมที่มีอายุมากกว่า 70-80 ปี ถ้าเป็นพื้นที่แนวกำแพงริมแม่น้ำใหม่จะไม่กังวล เพราะมีการถมแม่น้ำออกไป แต่นี่ทรุดในแนวพื้นที่กำแพงริมแม่น้ำเก่าเกรงว่า หากมีการทรุดตัวมากกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อพระปรางค์ว่า จะเกิดการทรุดเอียงหรือพังลงมาได้
พระอรุณธรรมานุวัตร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านการป้องกันน้ำท่วมมีการก่ออิฐ เสริมกระสอบทรายในพื้นที่โดยรอบ
จากเดิมกำแพงสูง 2.80 เมตร เสริมขึ้นไปเป็น 3 เมตร ที่น่าประหลาดใจ คือ น้ำไม่ท่วม แต่เหตุใดพื้นที่ภายในกำแพงเดิมถึงทรุด โดยกำแพงเดิมจะทำเป็นฟันปลาสลับ เพื่อลดแรงปะทะของน้ำ ปัจจุบันได้ทำเป็นเขื่อนแนวตรงทำให้พื้นที่ของกำแพงวัดปะทะกับน้ำโดยตรง ขณะเดียวกัน พื้นที่ภายในวัดอรุณโดยเฉพาะบริเวณองค์พระปรางค์จะมีโพรงหรือท่อน้ำที่เข้ามาถึงองค์พระปรางค์ได้ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นหรือหน้าน้ำหลาก น้ำจะเข้าท่วมบริเวณฐานขององค์พระปรางค์วัดอรุณฯ ก่อน จะเห็นเหมือนว่าองค์พระปรางค์ลอยน้ำ
“ตอนนี้เราไม่รู้ว่า ใต้พื้นดินที่ทรุดและภายในฐานองค์พระปรางค์เป็นโพรงมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากระบบวิศวกรสมัยก่อนเขาจะขุดให้เป็นโพรงแล้วนำท่อนซุงมาวางเพื่อเป็นฐานราก มีการวางระบบท่อโบราณเช่นไรมีการอุดตันหรือไม่ หากปล่อยทิ้งไว้เกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อพื้นที่และองค์พระปรางค์ได้ จึงอยากให้กรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเข้ามาตรวจสอบการทรุดตัวที่เกิดขึ้นด้วย ความรู้สึกของคนไทยหรือคนที่เห็นอาจจะรู้สึกเฉยๆ ว่ามีการทรุดตัวเล็กน้อย แต่อาตมาไม่คิดเช่นนั้น เพราะมันอยู่หลังกำแพงเก่าที่ดินมีการถมมานานมากแล้ว และไม่เคยเห็นการทรุดตัวแบบนี้ หากปล่อยไว้แล้วเกิดผลกระทบรุนแรงขึ้น มาจะสร้างความเสียหายต่อองค์พระปรางค์ซึ่งเป็น หน้าตาของประเทศได้” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ กล่าว
ด้านนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดีกรมศิลปากร กรมศิลปากร กล่าวว่า
ตนจะเร่งเข้าไปตรวจสอบความเสียหายของการทรุดตัวหลังกำแพงเดิมภายในพื้นที่วัดอรุณว่า สาเหตุทรุดตัวเกิดจากอะไร แล้วจะเกิดผลกระทบต่อองค์พระปรางค์หรือไม่ คงต้องไปสำรวจความเสียหายก่อน ถึงจะมีการซ่อมแซม เพื่อให้เกิดความมั่นคง อย่างไรก็ตาม จากนี้ตนคงต้องหารือกับทางวัดว่า มีความเสียหายใดเกิดขึ้นกับทางวัดบ้าง
สำหรับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ทรงมีพระราชปรารภสร้างพระปรางค์ในวัดอรุณฯ ซึ่งเดิมสร้างสูง 16 เมตรนั้นให้สูงขึ้นอีกเพื่อเป็นศรีแก่พระนคร แต่พอทรงกำหนดแผนผังที่จะสร้างใน พ.ศ.2363 ได้รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางรากฐานแล้ว ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้ดำเนินการสร้างพระปรางค์ต่อ และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ 2 กันยายน พ.ศ.2385 ครั้นพอสร้างเสร็จจนถึงยกยอดนภศูลและพระมหามงกุฏไว้บนยอด แต่ไม่ทันจัดงานฉลองก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนใน พ.ศ.2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้จัดงานฉลอง ทั้งนี้องค์ประปรางค์ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สูง 81.85 เมตร วัดรอบฐาน 234 เมตร ปัจจุบันมีอายุเก่าแก่กว่า 160 ปี