นิตยสารฟอร์บส์เอเชียฉบับวันที่ 5 ธันวาคมยกย่องนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นนักธุรกิจแห่งปี 2011
เครือข่ายกิจการทั่วโลกของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ เริ่มต้นจากร้าน "เจียไต๋" ในย่านเยวราชเมื่อปี 1921 ธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ โดยที่ลุงและบิดาผู้อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้งเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ต่อมาในปี 1946 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โดยตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ซีพีได้ขยายกิจการจากการค้าเมล็ดพันธุ์ สู่ธุรกิจอาหาร และฟาร์มเกษตรโดยสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ แม้เป็นลูกชายคนสุดท้องในบรรดาบุตรชาย 5 คน แต่ด้วยพรสวรรค์ด้านธุรกิจ นายธนินท์ เจียรวนนท์ จึงได้สืบทอดกิจการต่อจากรุ่นบิดา ในฐานะประธานบริษัทด้วยวัยเพียง 30 ปี
จากร้านค้าเมล็ดพันธุ์พืชที่เปิดประตูต้อนรับลูกค้าครั้งแรกเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นเครือข่ายผู้ผลิตอาหารและเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดในโลก
ซีพีมีเครือข่ายใน 17 ประเทศ ส่งออกไปยัง 40 ประเทศ และคาดว่ามีรายได้สูงถึง 33,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 990,000 ล้านบาท) ภายในปีนี้ เจ้าสัวธนินท์ในวัย 72 ปี เคยกล่าวไว้เสมอว่า "เราต้องการเป็นครัวโลก"
หนทางเพื่อเติมเต็มความฝันเจ้าสัวธนินท์เป็นไปได้ด้วยดี โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซีพีได้สบโอกาสในการเข้าไปลงทุนในจีน
ขณะที่จีนก็ตั้งเป้าเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศ เจ้าสัวธนินท์ ทุ่มเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ที่จะผลิตไข่ ไก่ หรือที่เคยกล่าวไว้ว่า "จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร" ขณะที่การเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารถือเป็นหนึ่งในนโยบายการปฏิวัติครั้งใหญ่ของจีน ธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น ไทซันฟูดส์, มอนซานโต, คาร์กิลล์, โฮป กรุ๊ป และ นูทราโก ก็มีส่วนในความสำเร็จของการปฏิรูประบบการผลิต การบรรจุ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในจีนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนบนแผ่นดินจีนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเจ้าสัวธนินท์ เขาหลักแหลมพอที่จะบุกตลาดจีนตั้งแต่ปี 1979 สมัยที่นายเติ้ง เสี่ยวผิง เดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ ซีพีได้สร้างฟาร์มเกษตรและฟาร์มไก่หลังแรก กระทั่งมีอีกหลายสิบโครงการตามมา ปัจจุบัน ยอดขายกว่าครึ่งหนึ่งของซีพีก็อยู่ในจีน
แนวคิดสร้างฟาร์มเกษตรในจีนแบบใหม่ของเจ้าสัวธนินท์ ได้ยึดหลักการที่เคยได้ผลในไทยเมื่อ 30 ปีก่อน กล่าวคือ
ซีพีได้ซื้อที่ดิน 500 เอเคอร์ (ประมาณ 1,200 ไร่) และปล่อยเช่าแก่เกษตรกรชาวจีนผู้ไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมทั้งมีการฝึกอบรมเกษตรกรจีน ให้การสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัย และเมล็ดพันธุ์ จนในที่สุดเกษตรกรเหล่านี้จะสามารถชำระหนี้ต่างๆได้จนหมดสิ้น จากผลกำไรในการทำฟาร์มเลี้ยงหมู ทั้งนี้ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แนวคิดของเจ้าสัวธนินท์บนดินแดนจีนไพศาลที่ประชากร 700 ล้านคน หรือกว่าครึ่งหนึ่งยังคงอยู่ในระบบการเกษตร จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด
แม้จะทุ่มเทกับแผนการลงทุนระยะยาวในจีน เจ้าสัวธนินท์ยังจำเป็นต้องจัดการภารกิจเร่งด่วนในประเทศของตน เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวไทยกำลังประสบวิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี เครือซีพีถือเป็นองค์กรหนึ่งที่คอยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะด้านอาหาร เพื่อช่วยให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยครั้งนี้