กรมเจ้าท่า โดยศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือและระบายน้ำออกสู่ทะเล แก้ปัญหาความตื้นเขินของทะเลสาบสงขลาบรรเทาปัญหาอุทกภัยของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ให้น้ำสามารถไหลลงทะเลสาบสงขลาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยทำการขุดลอกตั้งแต่บริเวณปากร่องน้ำไปจนถึงบริเวณท่าเทียบเรือประมงใหม่ จำนวนดิน 1 ล้าน 2 หมื่นคิว โดยใช้เรือตักดิน 4 ลำ ใช้งบประมาณกว่า 59 ล้านบาทเศษ ในขณะนี้ได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งจะแล้วเสร็จตามโครงการฯประมาณเดือนมกราคม 2555 ทางกรมเจ้าท่า ได้ทำการเร่งรัดการดำเนินการขุดลอกร่องน้ำฯให้แล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 เพื่อรองรับฤดูมรสุมลมตะวันออกเฉียงเหนือในปีนี้
ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 จังหวัดสงขลา ได้ทำการสำรวจตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่ร่องน้ำปากทะเลสาบสงขลา ไปจนถึงท่าเทียบเรือประมงใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดินบริเวณต้นน้ำ ทำให้ตะกอนดินถูกชะล้างไหลลงสู่ทะเลสาบ มีตะกอนดินสะสมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ทะเลสาบสงขลาประสบปัญหาความตื้นเขิน และมีความจำเป็นต้องทำการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาการตื้นเขินของทะเลสาบสงขลา
นายณัฐชัย พลกล้า ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สำหรับวิธีการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ใช้เรือลักษณะเหมือนเรือแก๊ป จำนวน 4 ลำ ตักดินใส่ในบาสแล้วลากไปทิ้งที่บริเวณพื้นที่ที่กำหนดด้านหลังเกาะแมวโดยทางศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 จังหวัดสงขลาได้มีการสำรวจและคำนวนพื้นที่และปริมาณดินบริเวณที่ทำการขุดลอก จำนวน 1 ล้าน 2 หมื่นคิว โดยดินนี้จะนำไปบริเวณด้านหลังเกาะแมว เพื่อให้ตะกอนดินพัดเข้าฝั่งอำเภอสิงหนคร ช่วยประทังการการกัดเซาะชายฝั่ง เข้าเติมเต็มทรายบริเวณหาดทรายแก้วที่ถูกคลื่นซัดหายไป ให้กลับมาสู่สภาพเดิม