ไอซีทีเล็งใช้กล้องซีซีทีวีระวังพื้นที่น้ำท่วมทั่วกรุง
ไอซีทีเผยแนวคิดใช้กล้องซีซีทีวีทั่วกทม.-ปริมณฑลตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วม
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ตามที่มีแนวคิดเสนอให้ไอซีทีเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีอยู่ทั้งหมดใน กทม.นั้น ไอซีทีได้ประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ดำเนินการรวบรวมเอกสาร รายละเอียดของพิกัดกล้องซีซีทีวี รูปแบบการใช้จุดเก็บภาพ เพื่อนำมาวางแผนการดำเนินงานแบบบูรณาการ โดยนำเอากล้องซีซีทีวีมาตรวจสอบ และเก็บภาพร่างพื้นที่น้ำท่วม
ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ พิจารณาว่าการทำงานของกล้องซีซีทีวีแต่ละตัวเชื่อมโยงระบบเข้ากับส่วนกลาง หรือสำนักงานใหญ่หรือไม่
เนื่องจากกล้องบางตัวมีลักษณะแบบสแตนอะโลน ทำงานเดี่ยวๆ แต่บางตัวติดตั้งแบบจุดรวมสัญญาณสามารถเรียกภาพจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งขึ้นมาดูได้ทันที ซึ่งขณะนี้ ได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูลดังกล่าวแล้ว
"ผมทราบที่มีคนเสนอแนวคิดมา ซึ่งเรื่องนี้ไอซีที และศูนย์ปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้หารือกันบ้างแล้ว จึงมอบหมายให้คนของเราไปประสานดูว่า ข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกตัดไฟ สามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเราต้องเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ซีซีทีวีจับภาพบริเวณที่น้ำท่วมและทางน้ำผ่านตลอด 24 ชั่วโมง"
อย่างไรก็ตาม กล้องซีซีทีวีใน กทม. และปริมณฑลมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกล้องจากกองบัญชาการตำรวจจราจร และของสำนักงาน กทม.
ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน โดย 2 หน่วยงานนี้ ได้วางระบบให้กล้องทำงานแบบจุดรวมสัญญาณซึ่งง่ายต่อการเรียกดูภาพบางพื้นที่ แต่ไอซีทีต้องการให้กล้องซีซีทีวีของทุกหน่วยงานได้วางระบบเชื่อมสัญญาณถึงกันหมด เพื่อช่วยให้การทำงานมีเอกภาพมากขึ้น แต่ยอมรับว่า อาจเป็นเรื่องยากต่อการประสาน
ทั้งนี้ หน้าที่ของไอซีทีใน ศปภ. จะเป็นผู้ให้บริการสื่อสาร โครงข่ายระบบต่างๆ ของหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง
เพื่อรวมกันอัพเดทสถานการณ์และข้อมูลต่างในพื้นที่ประสบภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งอาจจะขึ้นเป็นตัววิ่งหน้าจอโทรทัศน์ และส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ในชื่อของ "FROC" รวมทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลแบ็คออฟฟิศ และดาต้า เซ็นเตอร์ รวมทั้ง เก็บข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายภายหลังน้ำลด
ขณะนี้ คอลล์เซ็นเตอร์ 1111 กด 5 ที่ให้บริการแก่ประชาชนได้เพิ่มคู่สายเพื่อรองรับจำนวนสายที่โทรเข้า จากตัวเลขพบว่า
จำนวนคอลล์ที่โทรเข้าระบบยังมีปริมาณใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่แล้วราว 4-5 หมื่นคอลล์ต่อวัน ซึ่งไอซีทีประสานไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย ทั้งเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ให้ส่งเจ้าหน้าที่คอลล์เซ็นเตอร์มาช่วยรับเรื่อง ขณะนี้ค่ายมือถือส่งพนักงานมาค่ายละ 70 คนมากกว่าเดิมเกือบเท่าตัว อีกทั้งยังมีพนักงานของไอซีทีอีก 154 คนช่วยกัน