รังสิตน้ำท่วมเร่งสูบ หวั่นกระทบกรุงเทพ
น้ำเอ่อท่วมรังสิต เร่งวางแนวป้องกัน ส่งเรือดันน้ำลงเจ้าพระยา ชลประทานเผยถ้าสูบน้ำออกไม่ได้กระทบเมืองกรุงทันที
เมื่อเวลา 12.30 น. วันนี้( 18 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนรังสิตปทุมธานี ว่า ขณะนี้น้ำได้เอ่อท่วมพื้นที่โดยรอบห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส รังสิต และจุดกลับรถหน้าตลาดรังสิต โดยระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่งผลให้การจราจรย่านรังสิตและบนถนนวิภาวดีขาออกติดขัดอย่างหนักท้ายแถวยาวไปหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเอ่อท่วมสูงจนการจราจรติดขัด เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำหรับบรรยากาศบริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งถือเป็นปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เมืองเอกและกรุงเทพมหานคร ระดับน้ำยังคงทรงตัว โดยเจ้าหน้าที่สำนักชลประธานที่ 11 ได้เร่งติดตั้งท่อสูบน้ำขนาดใหญ่สูงประมาณ 1 เมตร เพิ่มอีก17 ตัว เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเรืออีก 4 ลำมาช่วยเร่งระบายน้ำ พร้อมกับระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารนำกระสอบทรายมาทำเป็นแนวกั้นรอบประตูน้ำ
นายชัยนรินทร์ พันธ์ภิญญาภรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักชลประทานที่ เปิดเผยว่า
ขณะนี้ระดับน้ำยังคงทรงตัว แต่เนื่องจากน้ำที่ไหลมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา มีจำนวนมาก จึงต้องเร่งติดตั้งท่องสูบน้ำเพิ่มอีก 17 ตัว จากเดิมที่มีอยู่ 12 ตัว เป็น 24 ตัว สามารถระบายน้ำได้ 84 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที สำหรับประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ถือว่าเป็นอีกจุดที่สำคัญตอนนี้มีการเร่งสูบน้ำอย่างต่อเนื่องหยุดไม่ได้ ทั้งนี้หากมีฝนตกลงมาอย่างหนักหรือระดับน้ำเพิ่มจนไม่สามารถสูบออกได้ทัน จะทำให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่เมืองเอก นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี และกรุงเทพมหานครทันที แต่คาดว่าน่าจะสามารถรับมือได้
นายชัยนรินทร์ กล่าวอีกว่า ตนได้ประสานงานกับม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วว่าหากรับมือไม่ไหว กทม.จะมีจุดรับมืออยู่ที่คลองหกวา
ซึ่งในวันนี้ตนจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งติดตั้งท่อสูบน้ำ และหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์แตก จนส่งผลกระทบกับพื้นที่กทม. สำหรับน้ำที่เอ่อท่วมย่านตลาดรังสิตเป็นผลมาจากน้ำที่ไหลมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยาทางทิศตะวันออก ลงสู่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งยังไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ทางเทศบาลเมืองรังสิตต้องลงมาดูแล เร่งหาทางระบายน้ำออก