นายกฯแถลงยอมรับน้ำท่วม รุนแรงหนักเทียบเท่าปี 2538 กรุงเทพจมน้ำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 7 ตุลาคม  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี รายงานสถานการณ์อุทกภัยและเตรียมการรับมือปัญหาในภาวะวิกฤต
 
โดยรัฐบาลให้จัดตั้ง"ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" ภายใต้ชื่อย่อว่า ศ.ป.ภ.ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ สนามบินดอนเมือง ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่พรุ่งนี้ คือวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2554 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป
 


รัฐบาลขอแจ้งให้ทราบว่าสถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ได้เกิดขึ้นและกระจายตัวในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศนั้นถือได้ว่ากำลังก้าวเข้าสู่ขั้นวิกฤตและรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นนั้นกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมถึง 59 จังหวัด โดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 28 จังหวัดและกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูอีก 32 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 252 คน ซึ่งขณะนี้กำลังส่งผลกระทบโดยตรงเข้าสู่กรุงเทพมหานคร


สำหรับในพื้นที่บางแห่งนั้นได้เผชิญกับภาวะน้ำท่วมขังต่อเนื่อง มาแล้วเกินกว่า 2 เดือนแล้ว และยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่เผชิญกับภาวะน้ำป่าไหลหลาก ภาวะดินโคลนถล่ม ทำลายชีวิต ทรัพย์สินและบ้านเรือนของประชาชนเสียหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ


ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วม ในขณะนี้รุนแรงและหนักมากกว่าทุกปีโดยเฉพาะปริมาณน้ำที่มีเพิ่มมากขึ้น และมีความรุนแรงเทียบเท่าเมื่อครั้งอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2538ที่กรุงเทพมหานครต้องจมน้ำและเสียหายอย่างรุนแรง


แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 1 เดือนเศษ แต่หน่วยงานราชการต่างๆ ก็ได้มีการตระเตรียมป้องกันอุทกภัย เหมือนเช่นที่ทำมาทุกปี แต่ก็ยังไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ได้เท่าที่ควร เพราะปริมาณน้ำนั้นเข้ามามากเป็นพิเศษ และเกินความคาดหมายของทุกฝ่าย ได้ทำให้ปริมาณน้ำในทุกเขื่อนของประเทศ มีระดับน้ำสูงเกินกว่า 100% ซึ่งถือว่ากำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง


นอกจากนั้น ประตูระบายน้ำบางแห่งก็ไม่สามารถปะทะแรงดันของปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลนี้ได้ทำให้เกิดการพังทลายลงและส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อภาวะวิกฤตให้เพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ คือ เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่มวลน้ำระลอกใหม่จะมาถึง

ขณะนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลคือกำลังจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่ประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงมาจากภาคเหนือตอนบน ผ่าน จ.สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลกและกำลังจะเข้าสู่นครสวรรค์ ซึ่งหากยังไม่สามารถบริหารจัดการระบายน้ำที่มีอยู่ลงทะเลให้มากที่สุดและเร็วที่สุดได้แล้ว จะสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ ที่น้ำไหลผ่านเป็นบริเวณกว้าง


ขณะเดียวกัน จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลเกรงว่าหากภาวะดังกล่าว ซ้ำเติมเข้ามาด้วยเงื่อนไขทั้ง 2 ประการนี้คาดว่าจะเกินความสามารถที่เขื่อนต่าง ๆ จะรับน้ำไหว โดยเฉพาะเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งมีศักยภาพระบายน้ำได้ถึง 3,570 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะต้องเร่งระบายน้ำโดยเร็ว มิฉะนั้นตอนล่างของเขื่อนเจ้าพระยา

อาทิ จ.อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยาจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเมื่อบวกกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนจากการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ พบว่าในช่วงวันที่ 15 ถึง 17 ตุลาคมนี้ คาดว่าระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุด ซึ่งจะยิ่งทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลมีความยากลำบากยิ่งขึ้นการเร่งระบายน้ำจาก ที่ต่างๆ ไหลลงสู่ทะเลให้มากที่สุดและเร็วที่สุด จึงเป็นภารกิจหลัก ที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการในทันที


ดังนั้น การดำเนินการของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเราได้ใช้ มาตรการทุกด้านที่มีอยู่ เข้ามาบริหารจัดการแก้ไขปัญหาทั้งในพื้นที่ที่พักอาศัยของประชาชน พื้นที่ปลูกพืชทางเศรษฐกิจ และพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในเขตเมือง โดยเรามีการเร่งดำนินการ ดังนี้


1. เร่งผลักดันปริมาณน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ให้สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลใน ทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเราได้ประสานงานให้กองทัพเรือใช้เรือที่มีอยู่ทั้งหมด รวมทั้งประสานงานกับเอกชนให้เข้าร่วมในการผลักดัน และระบายน้ำออกสู่ทะเล อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา


นอกจากนั้น ยังได้ประสานงานให้กรุงเทพมหานคร เร่งระบายน้ำผันลงสู่ทะเล โดยผ่านอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานครและคูคลองทุกแห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง และได้มีมาตรการป้องกันช่วยเหลือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในกรุงเทพมหานครควบคู่กันไปด้วย

2. เราได้มีการระดมความช่วยเหลือเบื้องต้นในการให้ประชาชนสามารถดำรงชีพ อยู่ได้ในภาวะวิกฤต ด้วยการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์ในการดำรงชีพที่จำเป็นต่าง ๆ ในเบื้องต้นให้แก่ประชาชน


3. รวมถึงการระดมสรรพกำลังของพี่น้องประชาชนและทหารเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้วยการบริจาคทรัพย์ สิ่งของ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และความช่วยเหลือต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพ และความสามารถของแต่ละฝ่ายทำอย่างเต็มที่


4. เราได้มีการระดมกำลังทหาร ตำรวจทุกหน่วยรวมทั้งกำลังของหน่วยราชการต่างๆ เข้าเสริมในพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เราได้ดำเนินการทุกอย่างควบคู่ไปกับการระบายน้ำลงสู่ทะเลและการป้องกันพื้นที่ใหม่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ได้หามาตรการเสริมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยบางส่วนที่ยังติดค้างอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เพราะมีความกังวลในทรัพย์สินและถิ่นที่อยู่ของตนให้ได้รับความช่วยเหลือพร้อมกับการที่จะทำอย่างไรให้สภาพพื้นที่ต่าง ๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด


ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมและรองรับกับภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้เร่งติดตามและประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพื่อเป็นการตระเตรียมและป้องกันระดับความรุนแรง รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่มากกินกว่าจะใช้การบริหารจัดการในสภาวะปกติที่จะรับมือได้

รัฐบาลจึงเห็นสมควรให้จัดตั้ง"ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" ภายใต้ชื่อย่อว่า ศ.ป.ภ.ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ สนามบินดอนเมือง ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่พรุ่งนี้ คือวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2554 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป


สำหรับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมีภารกิจเป็นศูนย์ที่รวมทุกหน่วยงานเข้ามาเพื่อช่วยเหลือประชาชนและปฏิบัติการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะให้เกิดการตอบสนองต่อต้องการของพี่น้องประชาชนให้รวดเร็ว ทั่วถึง มีการบูรณาจากทุกหน่วยงานต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการนี้ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีการเตือนภัยด้วยข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง จัดทำแผนงานต่าง ๆ เช่น แผนอพยพ พร้อมคำแนะนำอย่างครบวงจร ถือเป็นศูนย์บัญชาการอย่างแท้จริง โดยมีตัวแทนระดับสูง จากทุกกระทรวงเข้าร่วมด้วย

โครงสร้างในการดำเนินงานของ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และมีนายพระนาย สุวรรณรัฐ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองผู้อำนวยการ โดยแบ่งเนื้องานเป็น 2 ส่วนประกอบด้วย


1) ฝ่ายปฏิบัติการ มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ เน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในพื้นที่พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจหน้างานเพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนได้รับการดูแล และแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึง เช่น การอพยพพี่น้องประชาชนไปในสถานที่ที่ปลอดภัย การดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึง

2) ฝ่ายอำนวยการร่วมมอบหมายให้พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการร่วม เน้นการสนับสนุน การปฏิบัติการตั้งแต่การแจ้งเตือนภัย วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เสนอแนวทาง รวมถึงการทบทวนผลการเตือนภัย และสรุปแนวทางเพื่อให้เกิดทางเลือกในการดำเนินการ รวมทั้งศูนย์นี้จะเป็นศูนย์รับบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อนำไปส่งให้ถึงผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมยานพาหนะทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ


ทั้งนี้ เราจะมีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องเกี่ยวกับปัญหาอุทกภัยต่าง ๆ จากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นศูนย์ call center ตลอด 24 ชั่วโมง หมายเลข 1111 กด 5 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถในการให้ข้อมูล และสามารถตัดสินใจเบื้องต้นพร้อมกับการส่งต่อเรื่องราวต่าง ๆนั้นไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พี่น้องประชาชนทุกท่าน ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ ร่วมมือร่วมใจ ของทุกฝ่าย ที่จะเข้ามาช่วยกันในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติที่กำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทย รัฐบาลและทุกหน่วยราชการทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน มีความพร้อมในการทุ่มเทสรรพกำลังต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหา และฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ รัฐบาลเชื่อว่าความจริงใจและความตั้งใจของรัฐบาล และทุกส่วนที่ร่วมมือกัน จะเป็นพลังสำคัญในการก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้ด้วยดี


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์