ฝนถล่มซ้ำอยุธยาจมสนิท ท่วมคุกลอยคอย้ายนักโทษโกลาหล ถนนสายเอเชียอัมพาต ทั้งฝั่งขาเข้า-ออก
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากเมื่อคืนวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาพายุฝนได้เทกระหน่ำลงมาอย่างหนักชนิดไม่ลืมหูลืมตาเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น หลายอำเภอ ทำให้ในช่วงเช้าถนนสายเอเชีย ขาออก ที่จะมุ่งหน้าขึ้นสู่ภาคเหนือ แน่นขนัดไปด้วยรถยนต์นานาชนิด เนื่องจากถนนบางช่วงถูกน้ำท่วมเป็นระยะ ๆ จนต้องเหลือถนนแค่ 2 เลน จาก 3 เลน ประกอบกับถนนสายเอเชียฝั่งตรงข้าม ขาเข้า ซึ่งถนนเลนซ้ายสุดจะวิ่งไม่ได้เพราะโดนน้ำท่วม เลยทำให้เหลือแค่ 2 เลน รถยนต์ที่จะมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพ พอเจอข้างหน้าถูกน้ำท่วมสูง คนขับเลยเปลี่ยนใจเลี้ยวหันรถกลับ เลยยิ่งทำให้รถทั้งฝั่งขาเข้ากับขาออกติดขัดยาวหลายกิโล กลายเป็นอัมพาตในทันที
ขณะเดียวกันที่เรือนจำกลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำได้สูงถึง 1 เมตรหรือเท่ากับเอว เจ้าหน้าที่เลยได้เร่งขนย้ายนักโทษจำนวน 1700 คน โดยใช้วิธีใส่กุญแจมือลอยคอออกมาจากเรือนจำทีละ 2 คน เพื่อนำไปส่งยังเรือนจำจังหวัดต่าง ๆ 7 แห่ง โดยมีเจ้าหน้าที่เล็งปืนยาวเพื่อป้องกันไม่ให้นักโทษดำน้ำหนี ซึ่งกว่าจะขนย้ายนักโทษหมดเป็นไปด้วยความทุลักทุเล
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ดูแลพื้นที่น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา วิกฤติหนัก โดยมีบางพื้นที่ที่เป็นของภาคเอกชนหลายจุดที่ค่อนข้างจะไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของทางราชการ ดังนั้นจะต้องเร่งรัดให้มีการเสริมแนวป้องกันให้สูงขึ้น เพราะอีก 50 เซนติเมตรก็ไม่ปลอดภัยแล้วต้องเสริมเป็นเมตร อาทิ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค บางปะอิน และโรจนะ รวมทั้งนวนครด้วย เพื่อจะได้ไม่เกินปัญหาเหมือนนิคมอุตสาหกรรมสหนวนคร ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตือนภัยไปแล้ว
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมมาตรการอพยพ ขณะเดียวกันทางภาคเอกชน คือ นายชาตรี พูนคุปวาณิชย์ ซึ่งเป็นเพื่อนของตนได้จัดอาคารพาณิชย์จำนวน 100 คูหาจะคนได้ประมาณ 1,000 ครอบครัว บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนได้อาศัย ขณะเดียวกันได้ให้ใช้พื้นที่ตลาดบริเวณสี่แยกวัดพยาธิ เป็นจุดดูแลอาหารสดเพื่อปรุงอาหารให้ประชาชนรับประทาน
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมขณะนี้ได้รับรายงานว่า ที่ อ.บางปะหัน น้ำท่วมสูงจากพื้น 30-40 เซนติเมตร และเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ จึงจำเป็นต้องปิดให้บริการผู้ป่วยนอก ฉุกเฉิน และผู้ป่วยในชั่วครว โดยได้มีการย้ายผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวอยู่ใน รพ. 17 รายไปรักษาต่อที่ รพ.อื่น อย่างไรก็ตามได้ระดมหน่วยแพทย์จาก รพ.วชิระภูเก็ตจำนวน 2 ทีมไปตั้ง รพ.สนาม 2 แห่ง ที่บริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. ระหว่าง รพ.บางประหันกับทางเข้าที่ว่าการอำเภอบางปะหันและจุดที่ 2 ต.บางขวาง อ.มหาราช
ขณะที่นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กนอ. ได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เตรียมความพร้อมรับมือกับภัยน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากทั้งสองนิคมฯ ที่มีโรงงาน 233 ราย มูลค่าลงทุนรวม 125,312 ล้านบาท จ้างงานรวม 111,186 คน อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะระดับน้ำขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แต่น้ำยังไม่สามารถเข้าในพื้นที่นิคมฯหลังจากผู้เกี่ยวข้องมีการป้องกันอย่างเต็มที่
สำหรับนิคมฯ บางปะอิน เป็นนิคมฯ ร่วมดำเนินงานระหว่าง กนอ. กับบริษัทที่ดินบางปะอิน จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2532 ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางปะอิน พื้นที่โครงการรวม 1,962 ไร่ ซึ่งมีโรงงานทั้งสิ้น 90 ราย จำนวนแรงงานทั้งหมด 60,000 คน มูลค่าลงทุน 60,000 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์,อุตสาหกรรมยาง พลาสติก เป็นต้น
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) เป็นนิคมฯ ร่วมดำเนินงานระหว่าง กนอ. กับบริษัท ไทยอินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2532 ตั้งอยู่บริเวณถนนสายเอเซีย-นครสวรรค์ อ.บางปะอิน พื้นที่โครงการรวม 2,379 ไร่ มีโรงงานทั้งหมด 143 ราย มีแรงงานทั้งสิ้น 51,186 คน มูลค่าลงทุน 65,312 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมประเภทอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์, อุตสาหกรรมยาง พลาสติก เป็นต้น
“สถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่นิคมฯ สหรัตนนคร ซึ่งน้ำเริ่มเข้าท่วมภายในนิคมฯ ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำท่วมสูงในพื้นที่ 2-3 เมตร โรงงานในพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 43 ราย ประมาณการณ์มูลค่าความเสียหายในพื้นที่กว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการต้องปิดโรงงานก่อน 5 วัน หรือจนกว่าปริมาณน้ำจะลดลง” นางมณฑา กล่าว
ทั้งนี้นิคมฯ สหรัตนนคร เป็นนิคมฯ ร่วมดำเนินงานระหว่าง กนอ. กับบริษัท สหรัตตนนคร จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 37 ตั้งอยู่อำเภอนครหลวง พื้นที่โครงการรวม 2,050 ไร่ พัฒนาในระยะแรก 1,441 ไร่ ซึ่งมีโรงงานทั้งสิ้น 43 ราย จำนวนแรงงานทั้งสิ้น 14,696 คน มูลค่าการลงทุน 9,472 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป้นประเภทอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์, อุตสาหกรรมยาง พลาสติก เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย เป็นต้น สัดส่วนการลงทุน ญี่ปุ่น 70% ไทย 20% และอื่น ๆ 10%.