วิกฤตน้ำท่วมทั่ว เอเชียน่าห่วงสมิทธิชี้ไทยต้องเร่งบูรณาการหน่วยงานน้ำ

สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชีย

เมื่อพิจารณาตัวเลขความเสียหาย ความสูญเสียต่างๆ น่าเป็นห่วงว่าสถานการณ์นี้จะบานปลายและซ้ำรอยกันในปีหน้าหากไม่มีการวางแผนบริหาร "น้ำ" ในระยะยาว โดยเฉพาะปริมาณน้ำที่มาจากพายุ "ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" ได้รวบรวมสถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทยและประเทศรอบบ้านมีข้อมูลที่น่าสนใจมาพิจารณากันในระยะยาว

@เขมร-ไทย-ฟิลิปปินส์-จีน-ปากีฯ-อินเดีย "น้ำท่วม" อ่วม

กัมพูชา ขณะนี้ประสบภาวะน้ำท่วมเช่นเดียวกัน และถือเป็นน้ำท่วมรุนแรงในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พายุและน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. จนถึงปัจจุบัน 150 ราย พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย 494,000 เอเคอร์ หรือ 1.2 ล้านไร่

ขณะที่ฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 60 ราย มูลค่าความเสียหายราว 9,000 ล้านเปโซ หรือราว 6.3 พันล้านบาท

ส่วนประเทศจีนประสบปัญหาน้ำท่วมจากพายุตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบ 3 มณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน คือ เสฉวน เหอหนาน ฉานซี ที่มีประชาชนได้รับผลกระทับรวมกัน 12 ล้านคน โดยเฉพาะที่มณฑลเสฉวนประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 164 ปี มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 9 แสนคน และฉานซีที่น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 50 ปี มีประชาชนเดือดร้อน 2 ล้านคน

ด้านอินเดีย ที่รัฐโอริสสา ฝั่งตะวันออกของประเทศติดกับอ่าวเบงกอลประสบภาวะน้ำท่วม 2 ระลอก มีผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้เดือดร้อน 2.3 แสนคน เป็นน้ำท่วมที่รุนแรงในรอบ 29 ปี พื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบ 5 แสนไร่

ส่วนปากีสถานที่ปีที่แล้วถูกน้ำท่วมหนักมาหนนึง ปีนี้ที่แคว้นสินธุ์ประสบปัญหาน้ำท่วมมีประชาชนเดือดร้อน 5.4 ล้านคน รัฐบาลปากีสถานต้องประสานให้นานาชาติเข้าให้การช่วยเหลือ โดยสหประชาติ (ยูเอ็น) กลุ่มเอนจีโอ มีการขอรับบริจาคเงินราว 1 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ


สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ล่าสุด ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.)

รายงานจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 25 จังหวัด คือ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ยโสธร และร้อยเอ็ด ประชาชนเดือดร้อน 2,247,128 คน และมีผู้เสียชีวิต 224 ราย โดยพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 107,732 บ่อ

ขณะที่มีเส้นทางหลวงที่ไม่สามารถสัญจรได้ 47 สาย ใน 12 จังหวัด ทางหลวงชนบทที่ถูกตัดขาด 121 สาย ใน 20 จังหวัด โดยกรมชลประทานคาดหมายสถานการณ์น้ำว่าหลายลุ่มน้ำยังมีน้ำล้นตลิ่ง

@เสนอบูรณาการหน่วยงานน้ำทั้งประเทศวางแผนระยะยาว

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์โดยรวมของน้ำท่วมในประเทศไทยและหลายประเทศในเอเชียอย่างพร้อมๆไล่เรียงกัน อย่างไรก็ตามมีแนวคิดข้อเสนอจาก ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และอดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" ถึงแนวคิดการบริหารจัดการ "น้ำ" ว่า สถานการณ์น้ำท่วมหนักในปีนี้รัฐบาลจะต้องเร่งพิจารณาเพื่อวางแผนระยะยาวในปีหน้า เพราะจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซากได้อีก แนวทางที่ควรดำเนินการคือการ "บูรณาการ" ทุกหน่วยงานน้ำที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกว่า 20 หน่วยงานให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กรมอุตุนิยมฯ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน หน่วยงานเตือนภัย หน่วยงานป้องกัน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งหมดต้องประชุมร่วมกัน และศึกษาผ่านข้อมูลที่สามารถวางแผนระยะยาว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันแนวคิด "คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ" ซึ่งหากไม่ดำเนินการก็ควรเร่งวางแผนการทำงานบูรณาการหน่วยงานน้ำทั้งหมดให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเช่นปัจจุบันที่สถานการณ์ต่างคนต่างทำ

ทั้งนี้เสนอว่าทุกหน่วยงานต้องมาประชุมศึกษาหาข้อมูล โดยนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดว่าฤดูฝนที่จะถึง (ปีหน้า) มีปริมาณน้ำที่ฝนที่จะตกเท่าไหร่

มีพายุมากน้อยกี่ลูก พายุเข้าต้นฤดูฝน ช่วงกลาง หรือท้ายฤดู ต้องมีข้อมูลนี้อย่างแน่ชัดก่อน ถ้าเรารู้ข้อมูลนี้แน่ชัดเราสามารถวางแผนรับมือได้ เช่นถ้าพายุเข้าต้นฤดูฝน ก็จะมีการคำนวณน้ำในเขื่อนว่าจะเก็บน้ำไว้เท่าไหร่ เพื่อให้ช่วงปลายฤดูฝนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนได้ไม่เช่นนั้น ถ้าพายุเข้า น้ำมามากในช่วงฤดูฝน แต่ช่วงปลายฤดูน้ำมาซ้ำก็จะส่งผลน้ำท่วม เพราะไม่ได้บริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้มีที่ว่างเก็บ ไม่ต้องปล่อยให้ล้นเขื่อนและไหลออกมาภาคกลางตอนล่าง"อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งช่าวกล่าว

ดร.สมิทธ กล่าวว่า ในต่างประเทศใช้วิธีการวางแผนระยะยาวเช่นนี้ได้ผล โดยคำนวณทางวิทยาศาสตร์วางแผนสถานการณ์น้ำฝนล่วงหน้าทั้งหมดว่าพายุจะมากี่ลูก และไปในทิศทางใด ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่จะมามีเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อมีการคำนวณจากการพยากรณ์ล่วงหน้าได้ก็จะมาบริหารน้ำในเขื่อนช่วงต้น กลาง ปลายฤดูฝนทั้งหมดจะช่วยลดการสูญเสียได้มาก

"ต่างประเทศมีการบูรณาการหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องโดยนำข้อมูลการพยากรณ์อากาศระยะไกล ซึ่งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ใช้วิธีนี้ และมีข้อมูลพร้อมที่จะสามารถพยากรณ์การเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งประเทศเหล่านี้สามารถคำนวณรู้ว่ากี่เดือนจะมา ไปกี่ทิศทางขึ้นเหนือลงใต้ไปประเทศใดบ้าง เค้ารู้ล่วงหน้า การผิดพลาดน้อยมาก  ถ้าประเทศไทยขอความร่วมมือ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยามีเครื่องมือพยากรณ์ล่วงหน้าระยะ 3-7 วัน ทั้งหมดนี้เมื่อนำมาเชื่อมโยงจะทำให้ประเทศไทยประเมินสถานการณ์น้ำฝนที่จะมากับพายุได้เช่นกัน และใช้ข้อมูลนี้มาบริหารน้ำเพื่อลดความสูญเสีย"ดร.สมิทธกล่าว



อดีตผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังน่าห่วงว่ายังมีพายุที่อาจะเข้าประเทศไทยระหว่างนี้ถึงต้นเดือนธ.ค. อาจไม่เข้าในภาคกลาง
 
แต่จะลงในภาคใต้เป็นพายุดีเปรสชั่นเข้าภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศเหมือนช่วงพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งวางแผนรับมือระยะยาว โดยสถานการณ์ขณะนี้การสร้างเขื่อนจะไม่เกิดประโยชน์และไม่สามารถทำได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการทำแก้มลิงในพื้นที่ต่างๆ

"แผนระยะยาวคือหาแหล่งเก็บกักน้ำ การสร้างเขื่อนเลิกพูดได้ เราควรทำสิบปีที่แล้ว ทำตอนนี้ไม่ได้แล้วหมู่บ้านน้ำจะท่วมมากทำให้เขาเดือดร้อนไม่ได้แล้ว เราทำแหล่งกักเก็บน้ำเป็นแก้มลิงสามารถทำได้ตามภาคต่างๆ อาทิ บึงบอระเพ็ด สามารถปรับเป็นแก้มลิงอย่างดีตามธรรมชาติ มีปริมาณกว้างของบึงหลายแสนตารางกิโลเมตร โดยขุดลอกดินบึงบอระเพ็ดให้ลึก 1-2 เมตร สามารถเก็บน้ำได้ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้ามีฝนตกหนักช่วงกลางหรือปลายฤดูฝน น้ำก็จะไม่ท่วมกทม. และเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งได้ ซึ่งน้ำในบึงบอระเพ็ดสามารถใช้ทำนาปรัง เพาะปลูก ไล่น้ำเค็ม กรณีตัวอย่างนี้รัฐบาลต้องวางแผนทำงานระยะยาว ไม่เช่นนั้นปัญหาน้ำท่วมจะเยียวยาไม่จบสิ้น"เขากล่าวสรุป

นี่คือสถานการณ์พิษน้ำท่วมทั่วเอเชียล่าสุด และมุมมองจากนักวิชาการที่หวังเห็นแผนจัดการน้ำระยะยาวที่ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ยังไม่ขยับให้เห็นภาพชัดเจน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์