อุตุฯ ประกาศเตือนภัยพายุ “นาลแก” ฉบับ 2 จ่อถล่ม อีสาน ตะวันออก ภาคกลางอ่วมซ้ำ
เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 3 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน พายุโซนร้อน “นาลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 300 กิโลเมตร ทางตะวันออก ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้
ทั้งนี้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักในระยะ 1-2 วันนี้ ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ปัญหาอุทกภัย ณ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ที่กรมชลประทาน สามเสน ว่า สถานการณ์น้ำในวันนี้ยังคงมีปริมาณน้ำค้างอยู่ในหลายพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปริมาณน้ำที่จะมาเพิ่มเติมจากอิทธิพลของพายุเนสาด และนาลแก ทำให้ปริมาณน้ำที่ จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 4,398 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานที่มีปริมาณไหลผ่าน 4,362 ลบ.ม./วินาที
โดยจากการตรวจสอบภาพจากดาวเทียมกรมชลฯ ได้ประเมินปริมาณก้อนน้ำที่อยู่เหนือ จ.นครสวรรค์
ขึ้นไปคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 3,700 ล้านลูกบาศ์กเมตร จึงได้กำชับกรมชลประทานในการเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ผ่าน อ.บางไทร ในช่วงที่น้ำทะเลจะหนุนสูงในช่วงระหว่างวันที่ 16-17 ต.ค.นี้ พร้อมทั้งแจ้งเตือนกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี เพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร ว่า
ที่ประชุมได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนป่าสักมีปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบใน จ.ปทุมธานี และเขตมีนบุรี เขตหนองจอก ที่อยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ แต่ยังยืนยันว่ากรุงเทพฯ ยังสามารถรับมือได้ เนื่องจากสถานการณ์น้ำที่มีการคาดการณ์ล่าสุดพบว่าน้ำฝนมีปริมาณ 1,867 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 37.8% ซึ่งลดลงจากในช่วงสัปดาห์ก่อนที่มีปริมาณ 40-50% แต่ใน 7 วันข้างหน้า ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-70% จึงต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.