อึ้งผลสำรวจเด็กไทยพร้อมลอกข้อสอบ-ขี้โกงถ้ามีโอกาส

น.พ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เครือข่ายการวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)

เปิดเผยผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551–2552 ในส่วนของพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคมและจริยธรรม(อีคิว)ของเด็กไทยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 1-14 ปี จำนวน 9,035 คน ใน 20 จังหวัด ด้วยการใช้แบบทดสอบพ่อแม่ และเด็ก โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ อายุ 1-5 ปี  6-9 ปีและ 10-14 ปี เนื่องจากเด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการต่างกัน เปรียบเทียบเมื่อปี 2544 พบว่า กลุ่มเด็กอายุ 6-9 ปี สำรวจ 8 ด้าน คือ วินัย สติ-สมาธิ เมตตา อดทน ซื่อสัตย์ ประหยัด การควบคุมอารมณ์และพัฒนาสังคม พบว่า ผลการทดสอบพัฒนาการด้านสังคม ได้คะแนนสูงกว่าด้านอื่นๆ ส่วนด้านที่ได้คะแนนต่ำ คือ ความมีวินัย ความมีสติ-สมาธิ ความอดทนและความประหยัด โดยพัฒนาการด้านที่เด็กได้คะแนนน้อยซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ได้แก่ พัฒนาการด้านความมีวินัยในเด็กชาย การมีสมาธิในเด็กหญิง ด้านความเมตตาและการควบคุมอารมณ์ทั้งเด็กชายและหญิง

 ด้านกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี สำรวจ 14 ด้าน ได้แก่ ความตระหนักรู้ในตน ความภาคภูมิใจในตนเอง ความเห็นใจผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อสังคม
 
การจัดการกับอารมณ์ การจัดการกับความเครียด การสื่อสาร สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ความคิดสร้างสรรค์ค์ ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การควบคุมอารมณ์และคุณธรรมจริยธรรม พบว่า ในภาพรวมแม้ว่าเด็กจะมีคะแนนดีขึ้น แต่มีหลายด้านที่พบว่าคะแนนการสำรวจยังไม่ดีขึ้นกว่าปี 2544 ได้แก่ ด้านความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การแก้ปัญหา และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นจุดที่ได้คะแนนค่อนข้างต่ำ เมื่อแยกย่อยในส่วนของด้านจริยธรรม เด็กกลุ่มนี้ เห็นว่า “การเล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาส” และ “การลอกข้อสอบถ้าจำเป็น” เป็นพฤติกรรมที่เด็กยอมรับได้มากขึ้น

 “ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กมีปัญหาจริยธรรม พบว่า ตัวแปรสำคัญคือระดับการศึกษาของพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดู พ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงขึ้น เด็กจะมีจริยธรรมและพฤติกรรมในทางที่ดีมากขึ้น อาจเป็นเพราะพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงมีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้ว่าควรจะเลี้ยงลูกอย่างไร ทั้งนี้ สิ่งที่ควรพัฒนาในเด็กอายุ 1-5 ปี คือ การทำตามระเบียบกติกา ในเด็ก 6-9 ปี ในเด็กชายและเด็กหญิงควรพัฒนาด้านความเมตตาและการควบคุมอารมณ์ และสำหรับเด็กอายุ 10-14 ปี ควรฝึกการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ รวมทั้งการคิดวิเคราะห์วิจารณ์”  รศ.นพ.วิชัย  กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์