สหรัฐจับตาดาวเทียมวิจัยหล่นชนโลก 23 ก.ย.นี้ ระบุชิ้นส่วนดาวเทียม ที่จะหลงเหลือไม่ถูกเผาไหม้จากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ
กระทรวงกลาโหม และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ของสหรัฐ เฝ้าจับตาดาวเทียมวิจัยอายุงาน 20 ปีของนาซ่า ขนาดเท่ารถบัสโดยสาร จะหล่นชนโลกในวันศุกร์ (23 ก.ย.) โดยโอกาสที่ชาวโลกคนในคนหนึ่งในเกือบ 7,000 ล้านคนจะโดนหล่นทับ อยู่ที่ 1 ใน 3,200
ผู้เชี่ยวชาญขององค์การนาซ่า กล่าวยอมรับว่า การหล่นชนโลกของดาวเทียมยูเออาร์เอส ที่ใช้วิจัยชั้นบรรยากาศ ขนาด 35 คูณ 15 ฟุต เท่ารถบัสโดยสาร น้ำหนัก 6 ตัน
จะไม่มีทางรู้ได้ จนกว่าจะถึง 20 นาทีสุดท้าย ก่อนมันหล่นกระทบ โดยจากการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ มันจะกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศโลกในวันศุกร์ (23 ก.ย.) อาจเร็วหรือช้ากว่า 1 วัน และจุดที่คาดว่ามันจะตกอยู่ระหว่างเส้นรุ้ง 57 องศาเหนือ และเส้นรุ้ง 57 องศาใต้ ในรัศมี 12,000 กม. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกส่วนใหญ่
ดาวเทียมยูเออาร์เอส ถูกปล่อยสู่อวกาศในปี 2534 เพื่อตรวจวัดชั้นโอโซน ลม และอุณหภูมิ
ถูกปลดประจำการอย่างเป็นทางการในปี 2548 ถือเป็นยานอวกาศขนาดใหญ่สุดของนาซ่า ที่หล่นชนโลกในรอบ 30 ปี หลังยานสกายแล็ปหล่นลงที่ภาคตะวันตกของออสเตรเลียเมื่อปี 2522 แต่ในรอบ 50 ปีของการสำรวจอวกาศ ยังไม่เคยมีมนุษย์รายใดได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จากการหล่นสู่โลกของยานอวกาศ
องค์การนาซ่ากล่าวย้ำว่า ชิ้นส่วนดาวเทียมยูเออาร์เอสแค่ 26 ชิ้น ที่จะหลงเหลือ ไม่ถูกเผาไหม้ จากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ
ขณะมันหล่นลงด้วยความเร็วสูง แต่ความเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์และทรัพย์สินจากมันมีน้อย แค่ประมาณ 1 ใน 3,200 ความคืบหน้าถึงวันที่ 20 ก.ย. วงโคจรของยูเออาร์เอสอยู่เหนือพื้นโลก 205 – 225 กม. คาดว่าเศษชิ้นส่วนของมันจะกระจายในรัศมี 800 กม. หลังหล่นถึงพื้นโลก.