เมื่อถามถึงทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เอื้อต่อการรักษาระเบียบวินัยของคนในชาติ
พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ไม่เห็นด้วย ถึง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ในขณะที่ร้อยละ 7.8 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เมื่อถามถึงทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยจะทำให้เกิดการชุมนุมและความวุ่นวายต่างๆ ในสังคม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.0 ไม่เห็นด้วย ถึง ไม่เห็นด้วยเลย ในขณะที่ร้อยละ 34.0 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุความเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยจะลดลง ถ้ารัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์เอื้อต่อผลประโยชน์เฉพาะคนและเฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ร้อยละ 46.1 ระบุไม่ลดลง นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 51.9 ยังมองว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความพยายามจะทำเพื่อประโยชน์ของคนบางคน บางกลุ่ม ในขณะที่ร้อยละ 48.1 มองว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ผลสำรวจยังได้สอบถามเกี่ยวกับ ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้ถูกศึกษาครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.3 มีปัญหาน้ำท่วม โดยระบุว่า อดีตไม่เคยท่วมเพิ่งจะมาท่วมปีนี้ / น้ำท่วมบางปี / ท่วมเกือบทุกปี และมีปัญหาน้ำท่วมทุกปี ในขณะที่เพียงร้อยละ 22.7 ไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมเลย
สิ่งที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มประชาชนผู้ที่กำลังอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.6
ระบุไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล หน่วยงานราชการหรือองค์กรต่างๆ เลย เพราะพักอาศัยห่างจากเส้นทางคมนาคมหลัก และการแจกจ่ายช่วยเหลือก็อยู่กับกลุ่มเดิมๆ กลุ่มเครือญาติของแกนนำชุมชนเวียนเทียนกันได้รับซ้ำๆ ไม่กระจายให้ทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 46.4 ระบุได้รับความช่วยเหลือ เมื่อประเมินเปรียบเทียบแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ พบว่า ได้คะแนนเฉลี่ยออกมาเท่ากันคือ 5.8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ได้ค้นพบว่า คนไทยมีหัวใจรักประชาธิปไตยโดยยืนยันได้จากการพิสูจน์ด้วยคำถามทั้งทางบวกและทางลบ
แต่ถ้ารัฐบาลทำงานเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางคนหรือคนเฉพาะกลุ่มก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องอกหัก พักความเป็นประชาธิปไตยไปได้เช่นกัน จึงต้องระวังความรู้สึกของชาวบ้านบ้างว่าเวลา 1 เดือนมันจะนานเหมือน 1 ปี เพราะถ้าประชาชนอยู่อย่างเป็นทุกข์ประชาชนก็จะรู้สึกว่ายาวนานเกินไป
คนที่เข้าสู่ตำแหน่งและมีอำนาจไม่ว่าเป็นข้าราชการหรือนักการเมืองน่าจะระวังเรื่องการวางตัวในลักษณะ ยกตนข่มท่าน เหินห่างจากประชาชน พิธีรีตองมากมาย ไปไหนมาไหนต้องมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง ประชาชนเข้าถึงยากแตกต่างไปจากช่วงหาเสียงเลือกตั้งและช่วงไม่มีตำแหน่งสำคัญ ภาพลักษณ์เหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านเขารู้สึกว่าพวกท่านนั่นแหละคืออำมาตย์ตัวจริงใช่หรือไม่
ทั้งๆ ที่คำว่าอำมาตย์เป็นคำที่ฝ่ายการเมืองบางกลุ่มหยิบยกขึ้นมาหวังผลบางอย่าง
ทำให้ชาวบ้านเป็นเพียงทางผ่านสู่อำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง และเมื่อได้ตามที่สมหวังแล้ว นักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากก็มองทุกข์ของประชาชนไปอีกแบบต่างไปจากช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเดี๋ยวนี้หลายคนไม่ลงพื้นที่ไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าพบด้วยข้ออ้างว่า “ติดภารกิจ” และเวลาเดินผ่านกลุ่มประชาชนไปที่แม้แต่เหลียวหลังหันมาดูแววตาอันเป็นทุกข์ของพวกเขาสักนิดก็หามีไม่ เพราะมีบอร์ดี้การ์ดและวอลเปเปอร์ปิดทางเข้าออกไว้หมดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหลังจากมีอำนาจ
นี่คือข้อมูลสำรวจและแนวคิดที่ส่งสัญญาณไปยังผู้ที่เป็นรัฐบาลเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อพิจารณาบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน หรือว่าควรตีกลับไปให้ชาวบ้านพิจารณาทำใจว่า “ตถตา” อ่านว่า ตะถะตา-มันเป็นเช่นนั้นเอง
“ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแบ่งแยกคนไทยออกเป็นสองฝักสองฝ่ายมากพอๆ กันในตอนนี้จนอาจกลายเป็นชนวนที่ทำให้ไฟแห่งความขัดแย้งรุนแรงปะทุขึ้นมาได้อีก แต่ถ้าหากรัฐบาลต้องการทำให้เกิดขึ้น ก็น่าจะค่อยเป็นค่อยไปโดยมุ่งทำงานให้ได้ใจแรงศรัทธาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก่อน เพราะล่าสุด รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้คะแนนประเมินการช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติน้ำท่วม “ไม่แตกต่าง” ไปจากการทำงานของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็วฉับไวและทั่วถึง และที่น่าเป็นห่วงคือ ความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลกำลังเร่งทำอะไรให้กับใครบางคนหรือคนบางกลุ่มโดยมีวาระซ่อนเร้นหรือ Hidden Agenda ทางการเมืองหรือไม่” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า
ตัวอย่างร้อยละ 48.7 เป็นชาย ร้อยละ 51.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 21.3 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 22.0 อายุระหว่าง 40–49 ปี และ ร้อยละ 30.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 72.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 25.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 35.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.8 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ