ขีดเส้น22รีสอร์ต รื้อพ้นวังน้ำเขียว

กรมป่าไม้เตรียมขอหมายศาลลุย 22 รีสอร์ตรุก'วังน้ำเขียว'วันนี้

พร้อมสนธิกำลังทหาร-ตร.ตั้งทีมเฉพาะกิจ 6 ชุดเข้าตรวจสอบรีสอร์ต-บ้านพักเป้าหมายภายใน 13 ส.ค. ระบุถ้าผู้ประกอบการใดไม่มีหลักฐานยืนยันใน 15 วัน เข้ารื้อถอนทันที อธิบดีกรมป่าไม้เผยไม่ต้องเคลื่อน ไหวกดดัน เพราะทุกอย่างทำตามกฎหมาย ชี้ที่ดินส.ป.ก.4-01 ไม่อนุญาตให้สร้างโฮมสเตย์- รีสอร์ต อธิบดีอุทยานฯยันไม่ยอมให้คนไม่กี่พันทำลายทรัพยากร ภาคีเครือข่ายนักอนุรักษ์ฯเตรียมให้ข้อมูลกมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ขณะลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีส.อบจ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
 
ระบุว่าถ้าไม่หยุดโจมตีว่าชาวบ้านบุกรุกป่าจะรวมตัวกันเดินทางไปพบ ว่า เรื่องนี้ต้องตรวจสอบและว่ากันไปตามกฎหมาย ต้องแยกแยะให้ออกว่ามากดดันเพราะเดือดร้อนเรื่องอะไร ปัจจุบันคนที่อยู่ในพื้นที่วังน้ำเขียวมีทั้งคนที่มีเอกสารสิทธิอยู่แล้วและคนที่ไม่มี ส่วนกรณีที่บอกว่าปัญหาเกิดจากการแบ่งแนวเขตไม่ชัดเจนนั้น ยืนยันว่ามีกฎหมายประกาศเขตอุทยานฯชัดเจนอยู่แล้ว คนยากไร้ ไม่มีที่ทำกินจะได้รับอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่นี้ตามมติครม. พ.ศ. 2541 เราจะดูแลคุ้มครองให้ แต่ก็มีคนที่อยู่นอกเงื่อนไขเข้ามาหากินในพื้นที่ป่า ทำให้เกิดความเสียหายหลายล้านบาท เราคงไม่ยอมให้คนไม่กี่พันคนมาทำลายทรัพยากรของคนทั้งประเทศ ยืนยันว่าจะเดินหน้าทวงคืนผืนป่าต่อไป หากใครไม่เห็นด้วยคงต้องมาพูดคุยกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายประชุมร่วมกัน เพราะต้องรอฟังนโยบายของรัฐบาลใหม่ก่อน

นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ไม่เคยบอกว่าชาวบ้านวังน้ำเขียวทั้งหมดบุกรุกป่า

เราบอกแค่ว่าจะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ จับกุมผู้บุกรุกและสร้างความเสียหายให้ผืนป่า ดังนั้น ยืนยันได้ว่าผู้ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องอยู่แล้วจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ส่วนที่บอกว่าชาวบ้านบางส่วนจำเป็น ต้องเอาพื้นที่ส.ป.ก.4-01 ไปทำโฮมสเตย์หรือ รีสอร์ต เพราะทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ได้ผลนั้น โดยหลักแล้วพื้นที่นี้อนุญาตให้ทำเกษตรกรรมเท่านั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ก็ต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ ต้องออกกฎหมายใหม่ จึงต้องไปหารือกับส.ป.ก.ก่อน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าถ้าวิถีชีวิตเปลี่ยนไป และมีเงินจนสามารถสร้างรีสอร์ตได้ เหตุใดจึงไม่ออกไปอยู่ภายนอก

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่าปัญหาเกิดจากแนวเขตป่ากับที่ทำกินไม่ชัดเจนนั้น ขอชี้แจงว่าแนวเขตชัดเจนอยู่แล้ว
 
ทั้งแนวเขตอุทยานฯที่ประกาศในกฎกระทรวง และแนวเขตของส.ป.ก. ซึ่งการจำแนกแปลงเกษตรก็เหมือนกับการออกโฉนดที่ดินที่ต้องระบุแนวเขตชัดเจน ปัญหาขณะนี้คือชาวบ้านไม่รู้ว่าแนวเขตอยู่ตรงไหน เพราะไม่ได้ทำรั้ว หรือปักหลักเขตไว้ตลอดแนว ซึ่งชาวบ้านสามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ เพราะตรวจสอบหาพิกัดทางจีพีเอสได้อยู่แล้ว โดยในช่วงสัปดาห์หน้า ตนจะลงพื้นที่อีกครั้งและไม่ต้องมาเคลื่อนไหวขัดขวาง เพราะไม่ต้องการสู้รบกับใคร กฎหมายเป็นอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น และถึงแม้ตนจะลงพื้นที่ด้วยตัวเองไม่ได้ ก็จะมีเจ้าหน้าที่คนอื่นไปดำเนินการแทนอยู่ดี

ขณะที่นายภูษิต พรหมมานพ ผอ.ส่วนจัดที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า

พื้นที่ที่ถูกบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ อ.วังน้ำเขียว เบื้องต้นมีอยู่ 22 แห่ง หลังจากนี้กรมป่าไม้เตรียมขอหมายศาลเข้าตรวจค้นพื้นที่ดังกล่าว โดยจะมอบหมายให้ทีมปฏิบัติการ 6 ชุดนำหมายศาลเข้าไปตรวจสอบทั้ง 22 แห่งพร้อมกัน ซึ่งขั้นตอนจะทำอย่างรวบรัดและชัดเจน ถ้าผู้ประกอบการใดมีหลักฐานมายืนยันก็ให้นำมาแสดงและชี้แจงภายใน 15 วัน แต่ถ้าผู้ประกอบการรายใดไม่มีหลักฐานมายืนยันตามระยะเวลาที่กำหนด กรมป่าไม้สามารถเข้าทำการรื้อถอนได้ทันที

นายภูษิตกล่าวอีกว่า พื้นที่ป่าดังกล่าวถือว่ายังมีความสมบูรณ์และเปรียบเสมือนเป็นหลังคาของโคราช
 
รวมทั้งยังเป็นต้นน้ำสำคัญของจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง ฉะนั้นหากป่าเหล่านี้หมดไป ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนเป็นอันดับแรกก็คือชาวนครราชสีมา ซึ่งในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเกิดเหตุน้ำท่วมอย่างหนักในนครราช สีมา ทั้งที่ยังคงมีผืนป่าปกคลุมต้นน้ำอยู่ และหากผืนป่านี้หมดไป ในอนาคตนครราชสีมาก็ต้องจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ถึงแม้อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเพียงแค่ 20-30 รายก็จำเป็นต้องทำเพื่อให้คนส่วนมากได้รับประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ นายสุวิทย์จะลงพื้นที่จ.นครราชสีมา

เพื่อร่วมประชุมกับแม่ทัพภาคที่ 2 ผจว.นครราชสีมา ตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน เพื่อชี้แจงและรับฟังข้อเท็จจริง เนื่องจากในวันที่ 5 ส.ค.นี้ จะขอหมายศาลเพื่อเข้าไปตรวจค้นรีสอร์ตทั้ง 22 แห่ง จากนั้นกรมป่าไม้เตรียมตั้งทีมเฉพาะกิจรวม 6 ชุด ร่วมกับทหารและตำรวจ เพื่อเข้าไปตรวจสอบรีสอร์ตและบ้านพักเป้าหมายภายในวันที่ 13 ส.ค.นี้

วันเดียวกัน นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง รองนายกอบต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว ในฐานะประ ธานที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ต้นน้ำมูน
 
พร้อมภาคีเครือข่ายนักอนุรักษ์ในพื้นที่ และตัวแทนชาวบ้าน ได้ประชุมหารือเพื่อสรุปแนวทางการเคลื่อนไหว เนื่องจากในวันที่ 4 ส.ค.นี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จะลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริง โดยภาคีเครือข่ายฯ เตรียมยื่นเอกสาร พร้อมหลักฐานสำคัญ ซึ่งเป็นการรวบรวมรายละเอียดความเป็นมาของปัญหาข้อพิพาทที่ดินติดกับอุทยานแห่งชาติทับลานให้คณะกรรมาธิการนำไปศึกษาหาแนวทางยุติปัญหา

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดที่ภาคีเครือข่ายฯ เตรียมจะนำเสนอต่อคณะกรรมา ธิการ คือ การรวบรวมข้อมูลและหลักฐานที่พบว่า

หมู่บ้านในจ.นครราชสีมา และจ.ปราจีนบุรี กว่า 80 แห่ง มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยป่าทับลานถือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินมากที่สุดของประเทศไทย ซึ่งปัญหาเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2519-2523 ขณะนั้นพื้นที่รอบป่าทับลานจะเป็นที่ซ่องสุมของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อมารัฐบาลประกาศนโยบาย 66/23 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 (กอ. รมน.2) ได้ผลักดันชาวบ้านที่อาศัยในเขตป่าให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเขตต.ไทยสามัคคี และต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จากนั้นกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ได้ดำเนินการขอที่ดินบริเวณดังกล่าวจากกรมป่าไม้ เพื่อมอบให้ชาวบ้านไว้เป็นที่ดินทำกิน ในลักษณะเกษตรกรเชิงเดี่ยว ต่อมาปีพ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเดิมเป็นเพียงป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้มีพื้นที่บางส่วนทับที่ดินทำกินชาวบ้าน

นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า หลังจากประกาศให้พื้นที่ทับลานเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ชาวบ้านบางส่วนยังไม่ทราบว่า

แนวเขตพื้นที่ของตัวเองอยู่บริเวณใดและทับเขตอุทยานหรือไม่ ทำให้ชาวบ้านยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ต่อมาชาวบ้านและฝ่ายปกครองพยายามทักท้วงให้กรมป่าไม้สำรวจแนวเขตพื้นที่ป่าใหม่ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็เพิกเฉย ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ถือเป็นตัวชี้วัดภาครัฐว่า ที่ผ่านมาดำเนินการไม่ชัดเจนและ ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังจนยากที่จะแก้ไข นอก จากนี้ ขอถามภาครัฐด้วยว่า หน่วยงานใดที่ลงทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ว่า อ.วังน้ำเขียวเป็นสวิตเชอร์แลนด์ของเมืองไทย รวมทั้งมีโอโซนอันดับ 7 ของโลก ทำให้ธุรกิจเกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรมาเป็นเจ้าของสถานที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์หรือรีสอร์ตแทน

"ผมขอชี้แจงว่า การเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายฯไม่ได้ต่อสู้เพื่อคนรวยหรือเจ้าของรีสอร์ต แต่จะปกป้องสิทธิของชาวบ้านกว่า 80 หมู่บ้าน รวมประมาณ 1 หมื่นครัวเรือน ระยะเวลา 30 ปี ภาคีเครือข่ายฯ นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้มาตลอด แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ส่วนสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากนโยบายของรัฐไม่ดำเนินการต่อเนื่อง ไม่มีแนวทางวางแผนจัดการพื้นที่พิพาท เมื่อไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ชาวบ้านก็พร้อมที่จะประจานความผิดพลาดของภาครัฐ แต่กลับมาถูกใช้ข้อบังคับกฎหมาย ลิดรอนสิทธิชาวบ้าน" แกนนำภาคีเครือข่ายฯ กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์