เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่สถาบันโรคผิวหนัง น.พ.จินดา โรจนเมธินทร์
ประธานคณะอนุกรรมการประเมินและติดตามประสิทธิภาพเครื่องมือทางการแพทย์ และหัตถการโรคผิวหนัง สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “การฉีดโบท็อกซ์ และสารเติมเต็มอย่างไรให้ปลอดภัย” ว่า กระแสความนิยมการใช้โบท็อกซ์พบผู้เข้ามารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนัง จากปกติเฉลี่ยเดือนละ 10 คน เพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 100 คน มีคนไข้อายุเพียง 19-20 ปี ที่มารับบริการ ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยระยะยาว นอกจากนี้ยังพบกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดอย่างไม่ถูกต้องเข้ารับการแก้ไขที่สถาบันฯ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการฉีดโบท็อกซ์และฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็ม คือ ผลข้างเคียง โดยโบท็อกซ์จัดเป็นโปรตีนที่สกัดจากแบคทีเรีย
ที่เรียกว่าคลอสตริเดียมโบทูลินั่ม ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวที่พบในหน่อไม้ปี๊บ มีพิษต่อร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อลีบ และหากใช้มากเกินขนาด ก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ นอกจากนั้นอาจทำให้เกิดรอยจ้ำช้ำ ปวดหัว ส่งผลต่อสายตาให้เห็นภาพซ้อน หรือหนังตาตก จนส่งผลต่อการมองเห็น ใบหน้าผิดรูป โดยเฉพาะการฉีดบริเวณกล้ามเนื้อคอ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และลุกนั่งได้ลำบาก
“พบว่าคนไข้ที่ฉีดบริเวณกรามจะทำให้กล้ามเนื้อที่ยึดรอยต่อของกระดูกบาง เมื่อขยับปากจะมีอาการปวดทันที ส่วนผลข้างเคียงของฟิลเลอร์สูงกว่าโบท็อกซ์ เนื่องจากเป็นสารที่มีความหลากหลายของวัตถุที่นำมาใช้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่สลายได้ตามธรรมชาติ 2.ซิลิโคน และพาราฟิน เป็นสารที่ไม่สลายเลย อาจเกิดสารก่อมะเร็งในอนาคต เมื่อใช้เวลานานสารอาจไหลย้อยไปอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง บวมแดง ต้องผ่าตัด เลาะเนื้อเยื่อบริเวณใต้ผิวหนังเพียงอย่างเดียว ทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อเข้าอวัยวะอื่นๆ หรือเข้ากระแสเลือดได้แต่น้อยกว่าโบท็อกซ์ สารนี้ยังมีโอกาสอุดตันเส้นเลือด ทำให้เนื้อเน่าตาย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มสลายตัวช้าๆ 1-2 ปี
ด้านน.พ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้พบบางบริษัทอบรมแพทย์ไม่เฉพาะทางโดยใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ก็นำไปฉีดให้คนไข้ได้ซึ่งอันตรายอย่างมาก เพราะต้องประเมินสภาพคนไข้ เชี่ยวชาญเรื่องมัดกล้ามเนื้อ และปริมาณที่ใช้จะไม่เท่ากัน