ใต้ระอุไทยพุทธชุมนุม ต้านกลุ่มญาติผู้ต้องหา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (27 ธ.ค.) ขณะนายยีเป็น หะยีกาเดร์ อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 7 หมู่ 4 ต.ปะกาฮารัง เป็น อส.จ.ปัตตานี นั่งกินน้ำชาที่ร้านค้าในหมู่บ้าน ปรากฏว่า มีโจรป่วนใต้ 4 คน ขี่รถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายกันมาจอดหน้าร้าน 2 คัน จากนั้น คนนั่งซ้อนท้ายใช้ปืนอาก้าและปืน 9 มม. คนละกระบอกยิงถล่มเข้าไปใน ร้าน กระสุนถูกนายยีเป็นตกจากเก้าอี้

นายยีเป็นพยายามวิ่งหนีพร้อมชักปืนพกออกมายิงต่อสู้คนร้าย แต่พลาดท่าถูกคนร้ายยิงล้มลง ก่อนจะตามเข้าไปยิงซ้ำบริเวณศีรษะเสียชีวิต กระสุนยังพลาดไปถูกนายนิมะ เซาดี อายุ 30 ปี ชาวบ้านบาดเจ็บอีกคน ต่อมา พ.ต.อ.สมจิตร นาสมยนต์ ผกก.สภ.อ.เมืองปัตตานี พร้อมด้วย พล.ต.ต.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ผบก.ภ.จ.ปัตตานี ไปตรวจสอบ พบปลอกกระสุนปืนอาก้า 10 ปลอก 9 มม. 7 ปลอก ของคนร้าย จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

อีกรายเมื่อเวลา 02.00 น. วันเดียวกัน


พล.ต.ต.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ผบก.ภ.จ.ปัตตานี รับรายงานคนร้ายลอบวางเพลิงเผาอาคารเรียนโรงเรียนบ้านท่าพง หมู่ 4 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี นำกำลังไปตรวจสอบพบเปลวเพลิงลุกไหม้ตัวอาคารเป็นไม้ชั้นเดียวสภาพเก่า ระดมรถดับเพลิงฉีดน้ำโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้

พบว่าตัวอาคารถูกเผาวอดทั้งหลัง

อุปกรณ์การเรียนการสอนเสียหายทั้งหมด สอบสวนได้ความว่าโรงเรียนดังกล่าวมีครู 15 คน นักเรียน 200 คน ช่วงเกิดเหตุขณะชุดรักษาความปลอดภัยเข้าเวรอยู่ภายในอาคารฝั่งตรงข้าม คนร้ายลอบเข้าไปที่อาคารเกิดเหตุงัดหน้าต่างราดน้ำมันเบนซินแล้วจุดไฟเผา เกิดเปลวเพลิงลุกท่วมขึ้น เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของแนวร่วมกลุ่มโจรใต้ โดยหลังเกิดเหตุนายพิภพ ทองแดง ผอ.โรงเรียนยืนยันครูและนักเรียนไม่ได้เสียขวัญ ยังคงเปิดการเรียนการสอนต่อไป


จ.ยะลา เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่


รายแรกเมื่อช่วงเช้ามืดวันเดียวกัน

คนร้ายลอบวางเพลิงเผาบ้านนายสนิท พรหมจรรย์ อายุ 45 ปี เลขที่ 351 หมู่ 4 ต.ยุโป เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ แต่นายสนิทซึ่งพิการเป็นใบ้ตื่นขึ้นมาพบเห็นเสียก่อน ใช้น้ำฉีดดับไฟเอาไว้ได้ทัน มีเพียงบันไดบ้านถูกไฟไหม้เสียหายเล็กน้อย คาดเป็นฝีมือแนวร่วมโจรป่วนใต้

รายที่ 2

เมื่อช่วงเที่ยงมีชายลึกลับโทรศัพท์ข่มขู่วางระเบิดโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อ.เมืองยะลา เจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้นักเรียนกว่า 2,000 คน ออกจากโรงเรียน จากนั้นเข้าตรวจสอบปรากฏว่าไม่พบวัตถุต้องสงสัย คาดว่าเป็นพวกโรคจิตต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปั่นป่วน

รายที่ 3 เวลาไล่เลี่ยกัน

ขณะนายสิงห์ กสิวุฒิ อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 133/1 หมู่ 4 ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา อาชีพช่างตีเหล็ก ขี่รถจักรยานยนต์พานางนงนุช กสิวุฒิ อายุ 43 ปี ภรรยานั่งซ้อนท้ายกลับจากทำธุระ ถึงหน้าโรงงานบรรจุแก๊สบ้านท่าสาป หมู่ 1 ต.ท่าสาป ถูก 2 โจรใต้ขี่รถจักรยานยนต์ประกบยิงด้วยปืน 9 มม. ตกจากรถ ก่อนที่คนร้ายจะตามลงไปจ่อยิงซ้ำเสียชีวิต ส่วนนางนงนุชกระสุนเฉี่ยวแข้งขวาบาดเจ็บเล็กน้อย

รายที่ 4

ขณะนายอาบีดิง บูงา อายุ 52 ปี อดีต อส.อ.บันนังสตา และ ส.อบต.บันนังสตา นั่งกินน้ำชาที่ร้านในหมู่บ้านเงาะกาโป หมู่ 3 ต.บันนังสตา ถูก 4 โจรใต้บุกยิงด้วยปืนไม่ทราบขนาดเข้าศีรษะเสียชีวิต

ช่วงสายวันเดียวกัน


มีชาวบ้านประมาณ 50 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรีใช้ผ้าปิดหน้าตาออกมารวมตัวปิดถนนสาย 410 ยะลา-เบตง บริเวณบ้านปุยุด หมู่ 1 ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวนายเจ๊ะกะ บราเฮง อายุ 57 ปี ราษฎรในหมู่บ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้อำนาจพ.ร.ก.ควบคุมตัวไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เกี่ยวกับความมั่นคง

ต่อมานายกฤษฎา บุญราช รอง ผวจ.ยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจ เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม รับปากจะอนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมนายเจ๊ะกะได้ และจะอนุญาตให้นายเจ๊ะกะกลับบ้านไปประกอบพิธีในวันฮารีรายอวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ชาวบ้านพอใจยอมสลายตัว

เวลาไล่เลี่ยกันกลุ่มคนไทยพุทธกว่า 200 คน


จากหลายหมู่บ้านใน ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา ออกมารวมตัวกันปิดถนนสาย 410 ยะลา-เบตง บริเวณบ้านบ่อหิน หมู่ 7 ต.บ้านแหร ห่างจากจุดแรกประมาณ 10 กิโลเมตรโดยกลุ่มผู้ชุมนุมนำเต็นท์มากางบนถนน ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อคือ

1. ให้ทหาร ตำรวจ เพิ่มความเข้มงวดดูแลความปลอดภัยให้กับคนไทยพุทธ

2. ให้ เจ้าหน้าที่รัฐทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ กรณีที่จับกุมตัวคนร้ายแล้วปล่อยออกมาโดยการให้ประกันตัวเพียง 1 แสนบาท เห็นว่าวงเงินประกันน้อยกว่าชีวิตของคนบริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าตาย

3. หากมีการชุมนุมประท้วงของเด็กและสตรีที่เป็นมุสลิมให้เจ้าหน้าที่สลายม็อบโดยเร็วที่สุด

4. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอนุโลมการพกพาอาวุธปืนของชาวบ้านขณะขับขี่รถบนเส้นทางสายยะลา-เบตง และ

5. หากมีการประท้วงปิดถนนเพื่อขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาของกลุ่มชาวบ้านมุสลิมอีก คนไทยพุทธก็จะปิดถนนเช่นเดียวกัน

ภายหลังนายกฤษฎา บุญราช รอง ผวจ.ยะลา รับข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลุ่มคนไทยพุทธแล้ว ชาวบ้านทั้งหมดสลายตัวกลับไป


ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น.


คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ก.พ.ไปหามาตรการจูงใจเพื่อให้ ข้าราชการลงไปปฏิบัติงานใน ศอ.บต.ว่า

เข้าใจว่าส่วนหนึ่งคงเป็นในเรื่องของการมีเงินเพิ่มประจำตำแหน่งที่ทาง ก.พ.ในฐานะที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) ซึ่งดูแลในส่วนนี้ และอาจจะเป็นการให้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะครอบคลุมสำหรับข้าราชการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมข้าราชการที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ส่วนการดูแลเรื่องความปลอดภัยของข้าราชการที่ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ศอ.บต.คงจะดูแลให้

เมื่อเวลา 09.00 น. นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา


พร้อมด้วยประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาสและคณะ เข้าพบและหารือร่วมกับ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เวลานานประมาณ 30 นาที

จากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรให้สัมภาษณ์ว่า ทางคณะหอการค้ายะลาได้มาขอบคุณที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือครอบคลุมเป็นแพ็กเกจครบทุกด้านทั้งหมด แม้กระทั่งด้านการประกันภัย และมาสอบถามบางประเด็นตามมาตรการช่วยเหลือที่เขายังไม่เข้าใจ เพราะในระเบียบข้อยกเว้นบางอย่างเขียนไว้อ่านยาก

ซึ่งตนได้ให้กลับไปสอบถามจากหน่วยราชการ หากยังไม่ตรงวัตถุประสงค์ก็ให้บอกมาหรือกฎเกณฑ์บางอย่างที่ออกมติ ครม.มาก็ให้ลองใช้ ไป หากในทางปฏิบัติไม่คล่องตัวหรือมีปัญหาให้บอกมายังรัฐบาล ซึ่งได้รับการยืนยันว่ากฎเกณฑ์ที่รัฐบาลออกมาเขาชอบทั้งหมด เพียงแต่ยังไม่ได้ลองใช้


นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า

มาขอบคุณ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่ช่วยผลักดันมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ที่ทางหอการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอต่อรัฐบาล และนำหลักเกณฑ์ การช่วยเหลือตามมติ ครม.มาหารือด้วย โดยเฉพาะมาตรการภาษีบางหลักการยังไม่ชัดเจน ต้องไปหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่สรรพากร

ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ทางเรายังเสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเว้นภาษีให้แก่ทั้งบุคคลธรรมดาทั่วไป และข้าราชการในพื้นที่ด้วย เพราะเราอยากให้ข้าราชการและบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เป็นเงินเดือนได้รับการยกเว้นภาษีด้วย

แต่ทาง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรบอกว่าคงจะให้ไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของข้าราชการมีเบี้ยเสี่ยงภัยอยู่แล้ว ถือว่าสมเหตุสมผลอยู่แล้วที่จะต้องเสียภาษี แต่สำหรับนิติบุคคลได้รับการลดหย่อนภาษีเหลือ 3% จาก 30%

ส่วน ผู้ประกอบการรายย่อยก็ได้รับการลดหย่อนอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ตนก็จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอแก้ไขผ่านทาง ศอ.บต.มาอีกครั้ง

ประธานหอการค้าจังหวัดยะลากล่าวอีกว่า


สำหรับการขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้นั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยงสูง ไม่ควรมีการปล่อยกู้ เราไม่อยากให้มีการไปออกข่าวเช่นนั้น เพราะคนในพื้นที่ที่ยังมีศักยภาพในการลงทุนจะพลอยย่ำแย่ไปด้วย เพราะปกติการปล่อยกู้ก็ยากลำบากอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรรับปากว่าจะไปหารือกับทางธนาคารว่า การประกาศอย่างนั้นคงไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ ในพื้นที่ขณะนี้ยังต้องระมัดระวังอย่างสูง ส่วนสถานการณ์ ด้านเศรษฐกิจก็ยังย่ำแย่อยู่เหมือนเดิม ผู้ประกอบการรายเล็กไหลออกไปมากพอสมควร และยังไม่มีนักธุรกิจรายใหม่จะสนใจเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศ 5 จังหวัดเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ นักลงทุนใหม่ก็มักจะเลือกไปลงทุนใน จ.สตูล หรือสงขลา ที่ไม่เกิดเหตุความรุนแรงมากกว่า


ที่รัฐสภา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รักษาการรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แกนนำกลุ่มวาดะห์ กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า รู้สึกกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าว อยากให้ผู้มีอำนาจแก้ไขให้ได้ การแก้ไขที่ผ่านมาก็พยายามทำกันอยู่แต่อาจยังไม่ตรงจุดทั้งหมด เพราะถ้าไม่สงบการเมืองก็จะไม่ ราบรื่น

ส่วนกรณีที่มี ศอ.บต.แล้วสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นนั้น

มองว่าปัญหาในพื้นที่สะสมมายาวนาน และมาจากหลายปัญหาทั้งสังคม ประวัติศาสตร์ การศึกษา และการไม่ เข้าใจกัน การแก้ปัญหาจึงต้องใช้เวลา แต่ถ้าปล่อยปัญหาให้นานเกินไปคงไม่ดี ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ถ้ายังแก้ ไม่ได้ประเทศจะยิ่งแย่กว่านี้

เมื่อถามว่ามองรัฐบาลแก้ไขปัญหาถูกทางแล้วหรือยัง

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ถ้าถูกทางทั้งหมดปัญหาจะไม่ยืดเยื้อ แต่ตนไม่ได้ตำหนิ เพราะทุกรัฐบาลก็พยายามแก้ และวันนี้ คมช.ก็พยายามอยู่ แต่อยากเสนอว่าต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา มีส่วนร่วมแก้ปัญหาของตนเองให้มากที่สุด ถ้าคนในพื้นที่มีส่วนแก้ปัญหาของตนเองน้อย ปัญหาก็จะแก้ได้น้อย ซึ่งวันนี้ยังใช้คนนอกพื้นที่ จึงยังไม่เข้าใจเรื่องต่างๆดีมาแก้ปัญหา ดังนั้นต้องใช้คนในพื้นที่ให้มาก


นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)


กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายบริหารจะเป็นห่วงและออกมาเตือนในช่วงที่มีเทศกาลสำคัญ เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ควบคุมไปพอสมควร ทำให้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ทำได้ลำบาก สำหรับการแทรกซึมเพื่อก่อเหตุเป็นเรื่องที่เดาได้ลำบาก จึงต้องให้ ความระมัดระวังโดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีเทศกาลสำคัญทั้งคริสต์มาส วันปีใหม่ และเทศกาลฮารีรายอ

ขณะนี้เห็นว่ามาตรการแก้ไขเข้มข้นมากขึ้นแล้ว มีการเติมกำลังทหารพรานเข้ามา แต่ผู้ก่อเหตุได้ควบคุมพื้นที่ไปได้พอสมควร ทำให้ฝ่ายรัฐมีปัญหาในการเข้าไปควบคุม รวมถึงปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน แม้รัฐบาลจะพยายามใช้ความสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหา แต่ต้องยอมรับว่ายังคงมีเงื่อนไขที่ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีเอกภาพ เช่น การปิดล้อมหมู่บ้าน หรือการค้นบ้านยังมีอยู่ และมีการปฏิบัติที่ผิดธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะการไม่ถอดรองเท้าเข้าไปในบ้านยังมีอยู่ ซึ่งตนเจอกับตัวเอง จึงอยากให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รู้ในสิ่งเหล่านี้ด้วย


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์