อย.แจงกฤษฎีกาผลักดัน ห้ามโฆษณาเหล้า 24 ชม.

"ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) คณะทำงานพิจารณาการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าชี้แจงรายละเอียดเรื่องประกาศควบคุมโฆษณาเหล้าของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า อย.ไม่สามารถกำหนดให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.คุ้มครอง ผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้ และคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ไม่มีอำนาจกำหนดให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นอาหาร เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทำให้ต้องเลื่อนการบังคับใช้ประกาศ เป็นเวลา 1 เดือน จากที่ต้องบังคับใช้วันที่ 3 ธ.ค. นั้น

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า คณะทำงานฯได้เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ทราบถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงๆ โดยมีทั้งคณะทำงานฯของกระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานฯ จาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมเข้าไปให้รายละเอียดด้วย ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการชี้แจง

"ควบคุมได้ในส่วนของการโฆษณาเกินจริง แต่ในแง่ศีลธรรมยังไม่มีอำนาจ"


รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคือ เรื่องการใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 24 ซึ่งระบุว่าในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่าสินค้าใดอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคและคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ได้กำหนดให้สินค้านั้น เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา มีอำนาจออกคำสั่งได้ โดยในวงเล็บ 2 ระบุว่า (2) จำกัดการใช้สื่อโฆษณาสำหรับสินค้านั้น (3) ห้ามการโฆษณาสำหรับสินค้านั้น โดยความใน (2) และ (3) ให้นำมาใช้บังคับแก่การโฆษณาที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่าการใช้ หรือประโยชน์ของสินค้านั้นขัดต่อนโยบายทางสังคมศีลธรรมหรือวัฒนธรรมของชาติด้วย

ขณะนี้ อย.มีอำนาจเพียงดูแลคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ไม่ให้มีการโฆษณาหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริง แต่ยังไม่สามารถควบคุมหรือห้ามโฆษณาสินค้าที่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีได้ ซึ่งต้องมีการให้อำนาจเพิ่มเติม ตามกฎหมายที่มีอยู่ เชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาโดยเร็วที่สุด เพื่อจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ภายในวันที่ 3 ม.ค.นี้ หลังจากเลื่อนการบังคับใช้มา 1 เดือน หากผลสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาว่า อย. ไม่สามารถบังคับใช้ประกาศห้ามโฆษณาเหล้าได้ ก็จะมีการประชุมคณะทำงานอีกครั้ง แต่ยังไม่มีแนวทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการมีกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.ณรงค์กล่าว

"เชื่อได้ข้อสรุปแน่"


นายประเวศ อรรถศุภพล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสาธารณสุข คณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า จะนำประเด็นที่คณะทำงานฯของกระทรวงสาธารณสุข นำมาชี้แจงเข้าที่ประชุมอีกครั้ง โดยจะเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการคณะที่ 10 และ 11 ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 ธ.ค.นี้ เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปว่า ประกาศห้ามโฆษณาสามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ โดยในการประชุมหากคณะกรรมการเห็นตรงกันก็ไม่ต้องลงคะแนน แต่หากมติไม่เป็นเอกฉันท์ หรือกํ้ากึ่งก็ต้องมีการลงคะแนนเพื่อตัดสินว่าจะสามารถบังคับใช้ประกาศได้หรือไม่

สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 10 ประกอบด้วยนายจำรัส เขมะจารุ ประธานกรรมการ และมีกรรมการคือ นายไพโรจน์ นิงสานนท์ นายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ นายศักดา โมกขมรรคกุล นายพรชัย สุนทรพันธุ์ นายวิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ นายสุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ นายสมชาย พงษธา นางจริยา เจียมวิจิตร ส่วนคณะที่ 11 คณะกรรมการประกอบด้วยนายคณิต ณ นคร นายเกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ นายรองพล เจริญพันธุ์ นายดิเรก สุนทรเกตุ นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ พล.ต.อ.สุพาสน์ จีระพันธุ์ นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ พล.อ.อัฎฐพร เจริญพานิช

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์