สลดเด็กไทยไอคิวต่ำ-ห้าม3ขวบดูทีวี

"จัดสื่อโทรทัศน์ให้เหมาะสม"


วันที่ 13 ธ.ค.นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวง(วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่าง วธ. กรมประชาสัมพันธ์ นักวิชาการและเครือข่ายครอบครัว ว่าขณะนี้การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ (เรตติ้ง) เพื่อให้เกิดสื่อที่มีคุณภาพในสังคมไทยโดยในระยะ 3 เดือนนี้จะเป็นการทดลองใช้เรตติ้งที่กรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ กำหนดไว้ตามสัญลักษณ์ตัวอักษร โดยเครือข่ายนักวิชาการ เยาวชน ครอบครัว และภาคประชาสังคมจะทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบความเหมาสมของเรตติ้ง หากพบรายการใดมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้อง จะแสดงความคิดเห็นผ่านระบบ SMS โทรศัพท์มือถือ 4863333 และ www.me.or.th หลังจากนั้นจะมีการสรุปข้อเสนอมาตรการในการจัดเรตติ้งสื่อ

นางรัตนากร ทองสำราญ ผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์ ทดลองการจัดเรตติ้งเท่านั้น จึงพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่าในแต่ละรายการมีการใช้สัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาหรือไม่ และต้องจัดสรรเวลาออกอากาศที่เหมาะสม ซึ่งถ้าประชาชนร้องเรียนหรือทางสถานีทำผิดกฎหมาย อาทิ การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ ทางกรมประชาสัมพันธ์จะทำการตักเตือนให้ปรับปรุงเนื้อหาดังกล่าวให้เหมาะสม

"สมาธิสั้นพัฒนาการทางสมองลดลง"


นางสายฤดี วรกิจโภคาทร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการทางสมองของเด็ก กล่าวว่า สัญลักษณ์"ก."ที่กำหนดว่าเป็นรายการที่กำหนดไว้สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-6 ปี ตามข้อมูลทางกุมารแพทย์ระบุว่า การให้เด็กรับชมโทรทัศน์ส่งผลกระทบต่อระบบการคิดที่มีเหตุผลของเด็กจะขาดหายไป เด็กมีสมาธิสั้นพัฒนาการทางสมองลดลง ปัจจุบันวัดระดับไอคิวเด็กไทยเฉลี่ยเพียง 88 คะแนน

"เมื่อตัวเลขออกมาอย่างนี้ทุกปี นักวิชาการก็มีความเป็นห่วงไอคิวของเด็กไทย เนื่องจากผู้ปกครองคิดว่าเมื่อลูกตนเองดูโทรทัศน์ในบ้านจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด แต่ทั้งที่จริงแล้ว การปล่อยให้เด็กก่อน 3 ขวบดูโทรทัศน์เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ที่สำคัญขอชี้แจงให้พ่อแม่เข้าใจเสียใหม่ว่าไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบดูโทรทัศน์เด็ดขาด ที่สำคัญเราไม่สามารถปลูกฝังพื้นฐานชีวิตที่ดีและคุณธรรมจริยธรรม ให้กับเด็กไทยได้ หากยังประสบภาวะดังกล่าว"นางสายฤดีกล่าว

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ตัวแทนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ในหมู่ของผู้ปกครองมีการพูดคุยเรื่องการนำเสนอเนื้อหารายการโทรทัศน์ในปัจจุบันว่า ไม่เหมาะสมจนถึงขนาดมีการหารือร่วมกับเครือข่ายครอบครัวในการพยายามนัดกันปิดโทรทัศน์ในช่วงที่มีรายการไม่เหมาะสมกับเด็กออกอากาศ สัปดาห์ละ 1 วัน หรือ 1 ช่วง ทั้งนี้ตนคิดว่า หากเด็กจะมีจิตนาการที่ไม่เหมาะสมและเกินวัยของตน ซึ่งเป็นไปตามการเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อโทรทัศน์ ตนก็ขอปิดกั้นไม่ให้ลูกๆ ได้เรียนรู้จุดนี้จะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกดีใจที่ขณะนี้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญเรื่องการนำเสนอเนื้อหาของสื่อโทรทัศน์อย่างจริงจัง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์